กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมปศุสัตว์ จัดทีมปศุสัตว์เคลื่อนที่ ออกให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ด้านสุขภาพสัตว์ เช่น ให้ยาบำรุง ถ่ายพยาธิ เพื่อให้สุขภาพสัตว์แข็งแรง ทางกรมปศุสัตว์ได้จัดให้มีเสบียงพืชอาหารสัตว์ ประเภทหญ้าแห้งไว้สำรองหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขัง

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ในสถานการณ์ขณะนี้หลายพื้นที่เกษตรกรรมประสบกับภาวะน้ำท่วมขัง มีเกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรหันมาสนใจการทำการเกษตรด้านปศุสัตว์ ทั้ง สุกร เป็ด ไก่ โค กระบือ แพะ แกะ มากขึ้น ซึ่งสภาพภูมิประเทศในช่วงพายุฤดูฝน จะมีฝนตกชุก ทำให้สภาพพื้นที่จะชื้นแฉะ และมีน้ำท่วมขัง ดังนั้นจึงอยากฝากเตือนให้เกษตรกรระวังโรคระบาดต่างๆ ดังนี้

สุกร ต้องระวังโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งสุกรที่ป่วยจะแสดงอาการเป็นไข้ มีแผลที่จมูกและกีบ เจ็บขา ส่วนโรคพีอาร์อาร์เอส จะพบสุกรแสดงอาการ ซึม เบื่ออาหาร รวมทั้งแสดงอาการแท้งได้ด้วย

สัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ โรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ที่อาจสร้างความสูญเสียให้กับสัตว์ปีกเป็นจำนวนมาก อาการที่พบได้ คือ คอตก คอบิด หายใจเสียงดัง หรืออาจมีน้ำมูกไหล

โค กระบือ แพะ แกะ มักมีปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเสียจากการกินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกยอดเมื่อได้รับน้ำฝนเข้าไปเป็นจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาสัตว์จะกินแต่ฟาง หรือหญ้าแห้งตลอดในช่วงฤดูแล้ง สำหรับโรคระบาดสัตว์ที่ควรเฝ้าระวัง เช่น โรคปากและเท้าเปื่อยซึ่งสามารถพบได้ในสัตว์เคี้ยวเอื้องทุกชนิดโดยสัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร น้ำลายยืด เป็นแผลที่ปากและกีบ นอกจากนี้ยังมีโรคคอบวมที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงในกระบือและโค ซึ่งทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

นอกจากนี้ยังมีโรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู สัตว์อาจติดเชื้อได้จากการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนในดินหรือน้ำและเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือกตา จมูกและปาก โดยสัตว์ที่ป่วยจะมีไข้ สัตว์ตั้งท้องอาจแท้งได้ มีอาการดีซ่านรวมทั้งปัสสาวะมีสีแดง ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคนอีกด้วย

ทั้งนี้ ในกรณีน้ำท่วมขังนาน เกษตรกรควรมีการเตรียมหาพื้นที่สูง เพื่ออพยพสัตว์ไปในที่น้ำท่วมไม่ถึง และกรมปศุสัตว์ได้จัดให้มีเสบียงพืชอาหารสัตว์ ประเภทหญ้าแห้งไว้สำรองสำหรับสัตว์ที่ประสบปัญหาด้านพืชอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ เกษตรกรสามารถประสานติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ปศุสัตว์จังหวัด ใกล้บ้านท่าน โดยหลังจากน้ำลดจะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าประเมินความเสียหาย และช่วยเหลือในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป


ที่มาของข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ กรมปศุสัตว์

http://secretary.dld.go.th/index.php/informationdld/newsdld/2817-130-2560