การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง พ.ศ. ....
ระหว่างวันที่ ๑๒ ถึง ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐
๑. สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา
ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองพันธุ์สัตว์พื้นเมือง ซึ่งเป็นทรัพยากรพันธุกรรมที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพด้านพันธุ์สัตว์และความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองพันธุ์สัตว์พื้นเมือง และเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแล และใช้ประโยชน์
จากพันธุ์สัตว์พื้นเมืองอย่างยั่งยืน
๒. ความจำเป็นที่ต้องตรากฎหมายขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา
(๑) เพื่อให้เกิดการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
(๒) ส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุ์สัตว์พื้นเมืองอย่างยั่งยืน
(๓) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการทรัพยากรพันธุ์สัตว์พื้นเมือง
(๔) วางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยั่งยืน
(๕) วางแผนและกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการบริหารจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพและสัตว์พันธุ์ต่างถิ่น
(๖) วางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์
๓. หลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะตราขึ้น
(๑) กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง
(๒) กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อพันธุ์ ประเภท ชนิด และลักษณะเฉพาะของพันธุ์สัตว์พื้นเมืองในแต่ละท้องถิ่น, พันธุ์สัตว์พื้นเมืองที่ห้ามมิให้นำออกนอกราชอาณาจักร, พันธุ์สัตว์ต่างถิ่นที่ห้ามมิให้นำเข้ามา ในราชอาณาจักร, พันธุ์สัตว์ต่างถิ่นที่ห้ามมิให้เพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ ขาย หรือจำหน่าย
(๓) กำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์พื้นเมืองและการใช้ประโยชน์จากพันธุ์สัตว์พื้นเมือง
โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ให้การสนับสนุนและขอสนับสนุนงบประมาณในท้องถิ่นของตน
เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์พื้นเมืองในท้องถิ่นของตนต่อนายทะเบียน หากผู้ใดมีความประสงค์ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์สัตว์
พื้นเมือง ให้ยื่นคำขอผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์สัตว์พื้นเมือง
(๔) การใช้ประโยชน์จากพันธุ์สัตว์พื้นเมืองหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์สัตว์ดังกล่าว เพื่อปรับปรุงพันธุ์
ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องขอรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต และต้องทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หากใช้ประโยชน์จากพันธุ์สัตว์พื้นเมือง
หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์สัตว์ดังกล่าว เพื่อปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง หรือวิจัยซึ่งมิได้
มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องขอรับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โดยผู้อนุญาตอาจทำข้อตกลง
แบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ก็ได้
(๕) กำหนดให้มีสภาพบังคับทางอาญาเฉพาะโทษจำคุกและโทษปรับแก่ผู้ฝ่าฝืน
๔. ร่างพระราชบัญญัติที่จะรับฟังความคิดเห็น
ดาวน์โหลด รายละเอียดร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์พื้นเมือง พ.ศ. ...