1pic01

เฉลิมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ห่วงใยเกษตรกรช่วงหน้าฝน ให้กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ในหน้าฝน ย้ำเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สังเกตอาการในสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด เพราะอากาศแปรปรวนอาจทำให้สัตว์เกิดโรคได้ง่าย พร้อมเร่งดำเนินมาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เตือนเกษตรกรให้ดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในช่วงฤดูฝนเป็นพิเศษ เนื่องจากช่วงนี้จะมีฝนกระหน่ำลงมาในแต่ละวัน อากาศเปลี่ยนแปลง อาจทำให้สัตว์เกิดโรคได้ โดยเฉพาะโรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย หรือโรคคอบวม เป็นโรคระบาดรุนแรง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Pasteurella multocida ก่อความรุนแรงในกระบือ ส่วนสัตว์ชนิดอื่นสามารถพบการเกิดโรคได้ แต่ความรุนแรงลดลง ได้แก่ โค แกะ หมู ม้า อูฐ กวาง และช้าง เป็นต้น ในสัตว์ที่เป็นโรคจะแสดงอาการออกมา โดยถ้าเป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการซึม ไข้สูง น้ำลายไหล และตายภายในเวลาอันรวดเร็วไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นแบบเรื้อรังจะมีอาการ อ้าปากหายใจ หายใจหอบลึก ยืดคอไปข้างหน้า หายใจมีเสียงดัง ลิ้นบวมจุกปาก หน้า คอ หรือบริเวณหน้าอกจะบวมแข็งร้อน มีอาการเสียดท้อง ท้องอืด อุจจาระมีมูกเลือดปน สัตว์จะตายภายใน 2-3 วัน

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยเกษตรกรควรดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ คือ ฟาร์มหรือฝูงสัตว์ที่มีโรคระบาดแล้ว ต้องป้องกันการแพร่กระจายโรคออกนอกพื้นที่ โดยจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับกักแยกสัตว์ป่วยให้ห่างจากสัตว์ปกติมากที่สุด แยกอุปกรณ์ แยกบุคคลดูแลสัตว์ป่วย หากไม่สามารถทำได้ ให้จัดลำดับโดยทำกิจกรรมกับสัตว์ป่วยเป็นลำดับสุดท้าย ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามพื้นคอกเป็นประจำ ห้ามชำแหละหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ตายเพื่อบริโภคหรือจำหน่าย ทำลายซากสัตว์ให้ถูกหลัก โดยกำจัดซาก ณ สถานที่ที่สัตว์ตาย ด้วยการเผาหรือฝังซากสัตว์ใต้ระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 1 เมตร และใช้ยาฆ่าเชื้อที่ทำลายเชื้อโรคได้

สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่มีสัตว์ป่วย สามารถป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ โดยงดนำสัตว์จากพื้นที่ระบาดเข้ามาเลี้ยงอย่างน้อย 1 เดือน ไม่นำโคกระบือไปเลี้ยงในแปลงหญ้าหรือพื้นที่เลี้ยงสัตว์ร่วมกับผู้อื่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กระบือและโค อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปปีละ 1 ครั้ง โดยขอรับบริการได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ เข้มงวดการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม เช่น ห้ามบุคคล ภายนอกเข้าฟาร์ม เปลี่ยนรองเท้าบู๊ทสำหรับใช้เฉพาะภายในฟาร์ม และเดินผ่านอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าโรงเรือน ห้ามยานพาหนะทุกชนิดเข้าภายในฟาร์มเด็ดขาด ซื้อพืชอาหารสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการระบาดของโรค

กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง หากพบสัตว์แสดงอาการข้างต้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร 063-225-6888 หรือผ่านแอปพิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรและควบคุมการเกิดโรคได้ทันท่วงที อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด

1pic01e.jpg 1pic02.jpg S__60047470.jpg

S__60047473.jpg S__60047475.jpg S__60047477.jpg

S__60047478.jpg

ข้อมูล/ข่าว : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (3 สิงหาคม 2563) ข่าวปศุสัตว์