timeline 20210511 111747

วันที่ 11 พ.ค. 64 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ในพื้นที่ 19 จังหวัดของประเทศไทย นั้น เพื่อให้การควบคุม ป้องกัน และจำกัดโรค เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการประชุมออนไลน์ (Video Conference) โดยมี ผู้บริหารกรมปศุสัตว์ ประกอบไปด้วย อธิบดี รองอธิบดี ผู้อำนวยการกอง/สำนัก ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ปศุสัตว์เขต ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วม ซึ่งได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ ยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคลัมปี สกิน กำชับให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคลัมปี สกิน อย่างเข้มงวด ตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือสั่งการไป โดยให้เร่งประชาสัมพันธ์เกษตรกร สร้างความตระหนักรู้ เพื่อเร่งค้นหาโรค “รู้โรคเร็ว ควบคุมเร็ว สงบเร็ว” ทำการควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ อย่างเข้มงวด แนะเกษตรกรควบคุมแมลงพาหะ ในการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเป็นแมลงประเภทดูดเลือด ได้แก่ ยุง แมลงวัน เหลือบ และเห็บ โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ใช้ยาฆ่าแมลง และกางมุ้งกันแมลง หากเกษตรกรพบโค-กระบือป่วย หรือสงสัยว่าป่วย เบื้องต้นให้ทำการแยกออกจากโค-กระบือ ร่วมฝูง เพื่อทำการรักษา นอกจากนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างเร่งรัดการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน จากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่โค-กระบือ ของเกษตรกร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุม ป้องกันโรค พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรโดยทันทีเมื่อได้รับแจ้งเหตุ พร้อมทั้งได้สั่งการปศุสัตว์เขตทุกเขต ให้ทำหน้าที่ติดตาม กำกับดูแล พร้อมช่วยเหลือ แนะนำ สนับสนุนการปฏิบัติงานของทุกจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบอีกด้วย หากจังหวัดใดที่มีการเลี้ยงโคนม ให้ดำเนินการด้วยความเข้มแข็ง จริงจังและต่อเนื่อง เป็นกรณีพิเศษ

ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยังได้กล่าวย้ำอีกว่า โรคลัมปี สกิน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะเกิดเฉพาะในโค-กระบือ ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยสัตว์ที่ป่วยจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้คือ พบตุ่มเนื้อบนผิวหนัง และเยื่อเมือกทั่วร่างกาย ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์อาจมีไข้และหายใจลำบากร่วมด้วย ขอให้พี่น้องเกษตรกรหมั่นดูแลสุขภาพของโค-กระบือ ให้มีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์มีอาการผิดปกติ สงสัยว่าป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด หรือปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 06 3225 6888 หรือทางแอพพลิเคชั่น DLD4.0 เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

timeline_20210511_111747.jpg timeline_20210511_111749.jpg timeline_20210511_111751.jpg

timeline_20210511_111805.jpg

ข้อมูล : ทีมโฆษกกรมปศุสัตว์ (11  พฤษภาคม 2564) ข่าวปศุสัตว์