S 100335713

นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าด้วยปรากฏข่าวผู้บริโภคพบเนื้อสุกรที่มีความผิดปกติมีลักษณะคล้ายฝีหนองฝังอยู่ในกล้ามเนื้อ ซึ่งมีการเชื่อมโยงและคาดเดาว่าเกิดจากสุกรที่ป่วยเป็นโรคระบาดต่างๆ สร้างความวิตกกังวลให้แก่ผู้บริโภคและส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นในการบริโภคเนื้อสุกร กรมปศุสัตว์ขอยืนยันด้วยข้อมูลทางวิชาการว่าการเกิดฝีหนองในกล้ามเนื้อดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการป่วยเป็นโรคระบาดหากแต่เกิดจากการอักเสบเนื่องจากการฉีดวัคซีนหรือยาเพื่อการรักษาให้แก่สุกร สาเหตุการอักเสบที่เป็นไปได้มีทั้งจากจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนเข้าไปในกล้ามเนื้อสุกรจากการแทงเข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดหรือการอักเสบจากการตอบสนองของร่างกายสุกรบางตัวต่อยาหรือวัคซีนที่ฉีดนั้นทำให้อักเสบและเกิดการสร้างฝีหุ้มไว้ ฝีหนองที่ฝังในกล้ามเนื้อจึงมิได้เกิดจากการป่วยเป็นโรคระบาดต่างๆ แต่ประการใด อนึ่งกรมปศุสัตว์และเครือข่ายพันธมิตรได้ป้องกันและเฝ้าระวังโรคระบาดอันตรายในสุกรมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าโรคระบาดนั้นจะเกิดเฉพาะในสุกรไม่ติดต่อสู่คนแต่อย่างใด แต่เพื่อสร้างมั่นใจให้กับผู้บริโภคขอยืนยันว่าไม่มีการนำสุกรที่ป่วยเป็นโรคเข้าผลิตส่งขายให้ผู้บริโภคแน่นอน

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ขอเตือนผู้บริโภคว่า ถึงแม้โอกาสเจอฝีหนองจะไม่มากนักแต่ขอให้ผู้บริโภค “เช็คก่อนซื้อ” เนื้อสุกรทุกครั้ง โดยเลือกตั้งแต่สถานที่จำหน่ายไปจนถึงตัวเนื้อสุกร ในส่วนของสถานที่จำหน่ายขอให้มั่นใจในตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งได้รับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเนื้อสุกรที่จำหน่ายนั้น ผลิตจากระบบคุณภาพตลอดห่วงโซ่ มาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP ที่มีสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มกำกับดูแล ผ่านโรงฆ่าสัตว์ที่มีพนักงานตรวจเนื้อสัตว์ตรวจสอบไม่ให้สุกรที่ป่วยเป็นโรคอันตรายหรือมีฝีหนองในร่างกายส่งไปสู่การจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสส่วนน้อยที่อาจพบก้อนฝีฝังตัวในกล้ามเนื้อชั้นลึกซึ่งไม่สามารถตรวจสอบด้วยตาจากภายนอกได้ เช่น บริเวณสันคอที่ใช้เป็นตำแหน่งแทงเข็มโดยทั่วไป ต้องมีการตัดแต่งเป็นเนื้อชิ้นเล็กลงถึงจะพบเจอฝีที่เกิดในสุกรบางตัวได้ ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อทุกครั้ง หากรายใดซื้อเนื้อสุกรแล้วพบเจอฝี ให้ดำเนินการแจ้งผู้ขายหรือสถานที่จำหน่ายที่ซื้อเนื้อสุกรนั้นทันที เนื่องจากเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่พึงกระทำได้และผู้จำหน่ายเนื้อดังกล่าวต้องเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขหรือชดเชยให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อไป เพราะเข้าข่ายการจำหน่าย “อาหารไม่บริสุทธิ์”ตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ผู้จำหน่ายอาจระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และผู้บริโภคควรเน้นปรุงสุกก่อนรับประทานทุกครั้ง

ประชาชนผู้สนใจ”ปศุสัตว์OK” สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาระบบแลรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กลุ่มควบคุมโรงฆ่าสัตว์ โทร. 02-653-4444 ต่อ 3141 หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่

S__100335710.jpg S__100335712.jpg S__100335713.jpg

S__100335714.jpg S__100335715.jpg S__100335716.jpg

S__100335717.jpg

…………………………………………………………………..

ข่าวและข้อมูลโดย : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์กรมปศุสัตว์ (14 สิงหาคม 2564) ข่าวปศุสัตว์