25630805 1

วันที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 16.00 น.

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ บันทึกเทปรายการเจาะใจ โชว์บทบาทของกรมปศุสัตว์ด้านความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่อาหาร From Farm to Table ออกอากาศช่อง 9 MCOT HD วันเสาร์ที่ 29 ส.ค. 63 เวลา 22.00 น. ช่วง Main Talk มีคุณดู๋ สัญญา คุณากร เป็นพิธีกรรายการ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีโอกาสดีๆ มีโอกาสในหลายด้าน ซึ่งนอกจากเรื่องสาธารณสุขที่ไม่เป็นรองใคร อีกเรื่องที่น่าสนใจมากคือการเป็น “ครัวของโลก” เพราะในแต่ละปีเราส่งออกสินค้าเกษตรทำรายได้เข้าประเทศนับหลายหมื่นล้านบาท หรือแม้แต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา “สินค้าปศุสัตว์” จากบ้านเราก็สามารถก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในอาเซียนจากการส่งออกและเป็นลำดับที่ 4 ของโลก ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล โดยเบื้องหลังความสำเร็จนี้ คือการทำงานของกรมปศุสัตว์ร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย ผลสำเร็จที่ชัดเจนคือ ประเทศไทยส่งออกสินค้าปศุสัตว์ปีหนึ่งกว่า 2 แสนกว่าล้าน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี มีทั้งที่เป็นสินค้าปศุสัตว์และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่งออกสินค้าไก่เนื้อตอนนี้ เราเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากยุโรป อเมริกา และจีน จากความเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ที่ได้การรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ว่ามีคุณภาพได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบแหล่งที่มา สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการกำกับดูแลสินค้าปศุสัตว์ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง กรมปศุสัตว์ ดูแลทั้งห่วงโซ่อาหารเพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เริ่มตั้งแต่ปัจจัยการผลิต โรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าและโรงแปรรูป และสถานที่จำหน่าย จนถึงมือผู้บริโภค ให้มีความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่อาหาร From Farm to Table โดยการควบคุม กำกับดูแล มีการตรวจสอบย้อนกลับ และให้การรับรองมาตรฐานการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมั่นใจในสินค้าปศุสัตว์ ในแต่ละขั้นตอนมีการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และมีกฎหมายและระเบียบที่บังคับใช้ชัดเจน มีการทำโครงการด้านความปลอดภัยอาหารเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศมากมาย ได้แก่

  1. โครงการปศุสัตว์ OK ที่รับรองสินค้าเนื้อสัตว์และไข่ (เลือกซื้อสินค้าปลอดภัย เลือกซื้อสินค้าภายใต้สัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”)
  2. โครงการมาตรฐาน "Q" ที่บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านทุกขั้นตอนที่ได้มาตรฐาน ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยง โรงฆ่า และสถานที่จำหน่าย
  3. โครงการเลี้ยงสัตว์ปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะในระบบผลิตสินค้าปศุสัตว์ เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงปศุสัตว์ มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการมาก สามารถลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะลงได้ โดยที่อัตราการสูญเสียการผลิตไม่แตกต่างจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในสินค้าปศุสัตว์ ผู้บริโภคมีช่องทางการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งปัจจุบันมีสถานที่จำหน่ายมากกว่า 100 แห่ง และ
  4. โครงการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มสุกรและโคขุน มีการใช้ ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ (Mobile Lab) ในการตรวจวิเคราะห์หาสารเร่งเนื้อแดงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถปฏิบัติงานเคลื่อนที่ได้ทั่วประเทศ

นอกจากนี้กรมปศุสัตว์มี New Normal เช่น มีระบบ New E-movement การออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนกว่า 150,000 ราย และมีการออกใบอนุญาตผ่านระบบกว่า 600,000 ครั้ง และระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ NSW ในการขออนุญาตนำเข้าผลิต-ขายอาหารสัตว์ วัตถุอันตรายด้านปศุสัตว์ รวมทั้งการยื่นขอรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเป้าหมายต่อไป กรมปศุสัตว์จะขยายการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของประเทศให้มากขึ้น สร้างรายได้ให้ประเทศมากขึ้น รักษาระบบการสร้างมาตรฐานคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าปศุสัตว์ทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง และมุ่งพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนและการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับการให้บริการประชาชนต่อไป

 ณ ห้องอัดสตูดิโอ JSL รายการเจาะใจ กรุงเทพฯ อ่านรายละเอียด

คลิกชมรายการเจาะใจภารกิจของกรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าเกี่ยวข้องกับประชาชนไทย และการเป็นครัวของโลก  https://youtu.be/MP1uiYwNgTI