นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงผลการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกันกับมาตรฐานโรงฆ่าสัตว์ต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนในประเทศได้บริโภคอาหารที่ดีมีคุณภาพ มาตรฐานสากล

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ดีมีคุณภาพ มาตรฐานสากล ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์และการฆ่าสัตว์ (ฆจส. ๒) จำนวน 2,313 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 73 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 3.26 ร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ(ปศุสัตว์ OK) จำนวน 2,856 แห่ง และได้วางเป้าหมายให้โรงฆ่าสัตว์ทุกโรงมีใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์และการฆ่าสัตว์ (ฆจส. ๒) และการปรับปรุงสุขลักษณะในการผลิตเนื้อสัตว์ เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่สะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภค โดยมีพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 เป็นกฎหมายหลักในการบังคับใช้ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ปรับปรุงพัฒนาโรงฆ่าสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการผลิตเนื้อสัตว์ที่สะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภคเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรี ภายใต้นโยบายการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศ 5 ข้อ ดังนี้

  1. ให้มีโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานในแต่ละชนิดสัตว์ทุกจังหวัด
  2. โรงฆ่าสัตว์ทุกแห่งต้องมีใบอนุญาตฯ (ฆจส .๒)
  3. มีรถห้องเย็นขนส่งซากสัตว์และเนื้อสัตว์ทุกอำเภอ
  4. มีร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่สะอาดถูกสุขลักษณะทุกอำเภอ
  5. มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญด้านเนื้อสัตว์ปลอดภัย

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ให้ได้มาตรฐาน นั้นต้องดำเนินการอย่างบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดส่งเสริมสนับสนุนให้นำสัตว์เข้าฆ่าในโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์และการฆ่าสัตว์ (ฆจส. ๒) จัดทำแนวทางการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ภายในจังหวัด เพื่อกำหนดจำนวนโรงฆ่าสัตว์และแหล่งที่ตั้งของโรงฆ่าสัตว์ ควบคุมกำกับดูแลโรงฆ่าสัตว์ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขออนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ และการฆ่าสัตว์ พ.ศ. 2555 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาดำเนินการปรับปรุงสุขลักษณะในโรงฆ่าสัตว์ตามหลักการปฏิบัติที่ดี (Good Manufacturing Practices; GMP) จัดให้มีพนักงานตรวจโรคสัตว์ประจำโรงฆ่าสัตว์ทุกแห่ง ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปรับปรุงการขนส่งซากสัตว์และร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ พร้อมทั้งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย

นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ได้เน้นการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการดำเนินการให้ครอบคลุมงานในทุกๆ ด้าน โดยดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับโรงฆ่าสัตว์และผู้ประกอบการ จำนวน รวมทั้งสิ้น 8,383 คน ประกอบด้วย การฝึกอบรมผู้ประกอบการโรงฆ่าสัตว์ จำนวน 2,250 คน อบรมผู้ตรวจรับรองโรงฆ่าสัตว์ 473 คน อบรมพนักงานฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ประจำโรงงานฆ่าสัตว์ จำนวน 5,342 คน อบรมการปฏิบัติที่ดีในโรงฆ่าสัตว์ (GMP) จำนวน 318 คน


ที่มาของข้อมูล : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช สาสะกุล นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ กรมปศุสัตว์

http://secretary.dld.go.th/index.php/informationdld/newsdld/2601-91-2560