กรมปศุสัตว์เปิดให้เจ้าหน้าที่ MFDS เกาหลีเข้าตรวจโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์ไทย ตอบรับนโยบายเปิดประเทศ สร้างความเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ไทย

"กรมปศุสัตว์ประชุมขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA)"
วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2565 เวลา 11.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้แทนลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการจ้างเหมาปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนสัตว์ปีกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ Good Manufacturing Practice (GMP) กับ นางอรสิริ หนูพรหม และนายศราวุธ สุขกิจ ผู้สังเกตการณ์ จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยมี นายจาตุรนต์ พลราช ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กล่าวรายงาน นายวรฉัตร วิรัชลาภ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย นางเย็นจิต ทองยงค์ ผู้อำนวยการกองคลัง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องซุ้มเรือนแก้ว ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ พญาไท
การลงนามข้อตกลงคุณธรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงค์อันแรงกล้าของกรมปศุสัตว์ที่จะดำเนินโครงการจ้างเหมาปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนสัตว์ปีกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ Good Manufacturing Practice (GMP) ด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ปลอดจากการทุจริต หรือการกระทำโดยมิชอบทั้งปวง เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ ผู้ประกอบการ และผู้สังเกตการณ์ จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยในครั้งนี้จะเป็นการลงนาม 2 ฝ่าย ระหว่างหน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการคือ กรมปศุสัตว์ และและผู้สังเกตการณ์ หลังจากนั้นเมื่อได้ ผู้ประกอบที่ชนะการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ผู้ประกอบการรายดังกล่าวจะต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรมด้วย
โครงการจ้างเหมาปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนสัตว์ปีกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ Good Manufacturing Practice (GMP) เป็นโครงการที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) กรมบัญชีกลาง ให้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรมจะต้องดำเนินการให้ผู้สังเกตการณ์ จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ทุกกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แสดงถึงความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งโครงการจ้างเหมาปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนสัตว์ปีกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ Good Manufacturing Practice (GMP) เป็นโครงการขนาดใหญ่ของกรมปศุสัตว์ มีประโยชน์และมีความสำคัญด้านความั่นคงด้านวัคซีนสัตว์ของประเทศเป็นอย่างมาก
ภาพ : ฉัตรชัย นวลปลอด / ข่าว : สลิลรัตน์ ชูโชติ / กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม
กรมปศุสัตว์จัดแถลงข่าวเนื่องในโอกาสวันสถาปนากรมปศุสัตว์ครบรอบ 80 ปี วันที่ 5 พฤษภาคม 2565
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานวันสถาปนากรมปศุสัตว์ครบรอบ 80 ปี โดยมีนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการแถลงข่าว ในวันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 09.00 น. ณ ลานน้ำพุ หน้าตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงว่า งานวันสถาปนากรมปศุสัตว์ ครบรอบ 80 ปี จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2565 ณ กรมปศุสัตว์ พญาไท โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ย้อนรำลึก 8 ทศวรรษ 80 ปี วิถีชาวปศุสัตว์สู่การพัฒนาประเทศ สืบสานงานตามพระราชปณิธานตามรอยพ่อของแผ่นดิน” รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ พิธีไถ่ชีวิตโค กระบือจำนวนทั้งสิ้น 80 ตัว โดยนำไปมอบให้เกษตรกรในโครงการธนาคารโค–กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดําริ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นโคจำนวน 30 ตัว จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นโคจำนวน 30 ตัวและจังหวัดนครราชสีมา เป็นกระบือจำนวน 20 ตัว การมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ โดยการมอบโล่รางวัล "คนดีศรีปศุสัตว์ " รางวัล " DLD Award" รางวัล " โครงการธนาคารโค - กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ " แก่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ทั้งยังมีนิทรรศการ ภาพเก่าเล่าประวัติ เกี่ยวกับความเป็นมากรมปศุสัตว์ รวมทั้ง ผลงานที่โดดเด่นของกรมปศุสัตว์ ในหลากหลายหัวข้อ เช่น ลดต้นทุนอาหารสัตว์ ทางรอดแก้วิกฤติวัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาแพง ของสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ IFarmer แอปพลิเคชั่นสำหรับการจัดการฟาร์มโคนม ของสำนักพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ การผลิตปศุสัตว์ การผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับป้องกันโรคลัมปีสกิน ของสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ด้านอาหารสัตว์และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ ของกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ การตรวจประเมินสถานประกอบการเพื่อการส่งออก (Human food และ Pet food) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) โดยการตรวจประเมินแบบระยะไกล (Remote audit) ของสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมเนื่องในโอกาสกรมปศุสัตว์ครบรอบ 80 ปีกรมปศุสัตว์ได้จัดกิจกรรม CSR ผ่าน โครงการแบ่งปันความสุข แต่งเติมรอยยิ้ม คืนความดีสู่สังคม โดยนำเครื่องอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นมอบแก่ มูลนิธิ สมาคมและสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน จำนวน 9 แห่ง รวมทั้งกิจกรรม CSR ผ่านโครงการ DLD Smart heart Pet โดยนำอาหารสัตว์และสิ่งของจำเป็นไป มอบแก่สถานสงเคราะห์สัตว์ จำนวน 9 แห่ง
นอกจากนี้ ในงานนี้มีการจำหน่ายสินค้าคุณภาพดีราคาถูก ในราคา 80 บาท เช่น เนื้อหมู ราคากิโลกรัมละ 80 บาท ไข่แผงละ 80 บาท นมโหลละ 80 บาท ฯลฯ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค
“ กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนางานด้านปศุสัตว์ ให้มีความเจริญก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการบริโภคทั้งภายในประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ จึงถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ที่สร้างความเข้มแข็งของภาคปศุสัตว์ไทย ซึ่งในปี 2565 กรมปศุสัตว์มีแนวทางการขับเคลื่อนที่สามารถนำไปต่อยอดได้ อาทิ ด้านการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ด้านการป้องกันและควบคุมโรค ด้านการสร้างมาตรฐานการผลิตปศุสัตว์เพื่อความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคและเป็นไปตามมาตรฐานสากล และนอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบการตลาดนำการผลิต การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ รวมทั้ง การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์สามารถนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ ซึ่งการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์นั้น เป็นการดำเนินการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
*******************************************
ข่าว : พิจารณา สามนจิตติ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม ข่าวปศุสัตว์
ภาพ : กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม