กรมปศุสัตว์ร่วมยินดีครบรอบ 50 ปี การเคหะแห่งชาติ และร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ นางสาวเยาวนิตย์ บุรีรักษา เลขานุการกรม ร่วมแสดงความยินดี งานวันครบรอบการก่อตั้ง 50 ปี การเคหะแห่งชาติ โดย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ให้การต้อนรับ ณ สํานักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ และร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เพื่อนําไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ทุกข์ยาก และฟื้นฟูสภาพจิตใจเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีอย่างยั่งยืน โดยท่านสามารถร่วมบริจาคได้ที่ บัญชี “มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย” ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 020-3-04545-1
กรมปศุสัตว์ติวเข้มพนักงานตรวจเนื้อในโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์
กรมปศุสัตว์ โดยสำนักควบคุมอาหารและยาสัตว์ จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร HACCP ให้แก่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ รุ่นที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 9 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้ประกอบการ เข้าร่วมฝึกอบรม จำนวน 50 คน
กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่ในการกำกับ ดูแลผู้ประกอบการผลิต นำเข้า ขาย และส่งออกอาหารสัตว์ ยาสัตว์ และวัตถุอันตรายด้านการปศุสัตว์ ให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังให้การรับรองระบบประกันคุณภาพอาหารสัตว์ แก่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยระบบประกันคุณภาพที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองในปัจจุบัน ได้แก่ ระบบการจัดการด้านสุขลักษณะที่ดีในสถานประกอบการ (GMP) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิต (HACCP) ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุมคุณภาพการผลิตอาหารสัตว์ให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้าสำหรับการซื้อขายที่เป็นที่ยอมรับของลูกค้า รวมถึงผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณการส่งออก 980,394 ตัน มีมูลค่า 93,349 ล้านบาท (ข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565) ซึ่งมีการส่งออกอาหารสัตว์กว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยในปี 2563 คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร FAO/WHO (Codex Alimentarius Commission - CAC) ได้มีการปรับปรุงข้อกำหนดของระบบ GMP/HACCP Rev. 2003 ซึ่งใช้มานานกว่า 17 ปี มีการเพิ่มหัวข้อความตระหนักและจิตสำนึกเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร การเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ และประเด็นในหัวข้อการควบคุมกระบวนการผลิตต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในเรื่องความปลอดภัยของอาหารเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนชื่อระบบเป็น GHPs/HACCP Rev. 2020 ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องระบบ GHPs/HACCP ฉบับปรับปรุงใหม่ อันเป็นการเตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ที่อาจจะมีข้อบังคับให้ผู้ส่งออกอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ต้องใช้ระบบดังกล่าว มาควบคุมกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ โดยสามารถผลิตอาหารสัตว์ให้เกิดความปลอดภัย (food safety) ตลอดห่วงโซ่อาหาร (From Farm to table) สามารถลดอันตรายที่อาจปนเปื้อนในอาหารสัตว์ ทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ โดยเฉพาะโรคระบาดสัตว์ ได้แก่ โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร รวมถึงการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของห่วงโซ่อาหารและอาหารสัตว์
การฝึกอบรมครั้งนี้ มีทั้งการบรรยาย จากวิทยากรผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และมีกิจกรรมเข้ากลุ่มปฏิบัติ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอผลงานของกลุ่มย่อย โดยมีหัวข้อการอบรม ประกอบด้วย (1) มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศและภาพรวมโปรแกรมพื้นฐานด้านสุขลักษณะ เพื่อรองรับระบบ GHPs/HACCP (2) การจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการจัดการสุขลักษณะในโรงงาน (3) การผลิตในขั้นต้น (4) สถานที่ประกอบการ : การออกแบบและสิ่งอำนวยความสะดวก (5) แบ่งกลุ่มย่อย – จัดทำเอกสารคู่มือสุขลักษณะโรงงาน (6) การควบคุมการปฏิบัติงาน (7) สถานที่ประกอบการ : การซ่อมบำรุงและการสุขาภิบาลโรงงาน (8) สุขลักษณะส่วนบุคคล (9) แบ่งกลุ่มย่อย – สุขลักษณะส่วนบุคคล (10) การขนส่ง (11) ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภค (12) การฝึกอบรม (13) การทวนสอบระบบสุขลักษณะโรงงาน (14) แบ่งกลุ่มย่อย – การนำเสนอผลงานกลุ่มย่อย : กรณีศึกษาระบบ GHPs (15) ระบบ HACCP และหลักการเบื้องต้น (16) การประยุกต์ใช้ระบบ HACCP ขั้นตอน 1-5 (17) การประยุกต์ใช้ระบบ HACCP ขั้นตอน 6-8 (18) แบ่งกลุ่มย่อย - กรณีศึกษาหลักการ HACCP ขั้นตอนที่ 1-8 (19) การประยุกต์ใช้ระบบ HACCP ขั้นตอน 9 – 10 และ (20) การประยุกต์ใช้ระบบ HACCP ขั้นตอน 11 – 12
กรมปศุสัตว์ คาดการว่า ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ที่เข้าฝึกอบรมในครั้งนี้ จะได้ทราบถึงวิธีการนำระบบ HACCP มาควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ทำให้ประเทศไทยมีระบบมาตรฐานสากลในการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ และสามารถส่งออกอาหารสัตว์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น อาหารสำหรับสุนัขและแมว เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าต้องการให้ทางราชการรับรองระบบ HACCP นอกจากนี้ ยังทำให้สัตว์ที่เลี้ยงเพื่อเป็นอาหารโปรตีน ได้รับอาหารสัตว์ที่ปลอดภัย ส่งผลให้ได้เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ปลอดภัยอีกด้วย
"กรมปศุสัตว์ต้อนรับคณะเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพสัตว์ สาธารณรัฐสังคมเวียดนาม โอกาสเข้าศึกษาดูงานโคเนื้อของไทย"