รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จ.เพชรบุรี
วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมรับฟังรายงานการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันอุทกภัย และลงพื้นที่เพื่อติดตามและเยี่ยมชมการดำเนินงานในพื้นที่จริง โดย นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นผู้แทนกรมปศุสัตว์เข้าร่วม ณโครงการชลประทานเพชรบุรี จ.เพชรบุรี รายละเอียดคลิก
ภาพ ธงชัย สาลี สลก /ข่าวคณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมแถลงข่าวโครงการส่งความสุขปีใหม่ มอบให้เกษตรกร ปี พ.ศ. 2566
วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.30 น. นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมการเตรียมการจัดงานแถลงข่าวโครงการส่งความสุขปีใหม่ มอบให้เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2566 โดยมีนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยนางสาวเยาวนิตย์ บุรีรักษา เลขานุการกรม
และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ
สำหรับการประชุมในครั้งนี้เพื่อทราบรายละเอียดโครงการส่งความสุขปีใหม่ มอบให้เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2566 และเพื่อพิจารณาการแถลงข่าวโครงการส่งความสุขปีใหม่ฯ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคม 2565 - มกราคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งมอบผลิตภัณฑ์การเกษตรคุณภาพ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้เกิดการใช้จ่าย สร้างรายได้เพิ่ม และลดรายจ่ายครัวเรือนให้กับเกษตรกรและประชาชน และเพื่อส่งมอบความสุขจากการเยี่ยมชมสถานที่เชิงนิเวศเกษตรที่สวยงาม พร้อมกับได้รับความรู้ทางด้านการเกษตร แสดงออกถึงไมตรีจิต ความสัมพันธ์ และความร่วมมืออันดีในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรไปพร้อมกันทั้งภาคประชาชน เกษตรกร มีกิจกรรมหลักประกอบด้วย กิจกรรมเพิ่มสุขปีใหม่ เที่ยวทั่วไทย สุขใจไปกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้เปิดสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรให้ประชาชนเข้าชมฟรี/ลดค่าบริการในช่วงเทศกาล และกิจกรรมเสริมพลังปีใหม่ จำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ สินค้าเกษตรคุณภาพ
ทั้งนี้ในส่วนของกรมปศุสัตว์ได้เปิดแหล่งท่องเที่ยวด้านปศุสัตว์ (โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดกาญจนบุรี ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ 6 แห่ง (จังหวัดยโสธร สุราษฎร์ธานี สุพรรณบุรี สตูล หนองคาย และลําปาง) ศูนย์วิจัยและบํารุงพันธ์ุสัตว์ 4 แห่ง (จังหวัดแม่ฮ่องสอน สุพรรณบุรี ระยอง และประจวบคีรีขันธ์) และสํานักงานปศุสัตว์ 2 แห่ง (จังหวัดสตูล และนครศรีธรรมราช) และเปิดด่านกักกันสัตว์ จำนวน 20 แห่ง ให้บริการน้ำ ชา กาแฟ ห้องสุขา แก่เกษตรกรและประชาชนฟรี ในส่วนกิจกรรมเสริมพลังปีใหม่ ได้จัดจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ สินค้าเกษตรคุณภาพผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายของกรมปศุสัตว์ ณ ร้านค้าสวัสดิการกรมปศุสัตว์ Livestock Farm Outlet และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด (สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และกระบี่) นอกจากนี้ยังได้กำหนดจัดโครงการผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยออกให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การผ่าตัด ทำหมันสุนัข - แมว เพื่อควบคุมจำนวนประชากร เพื่อลดจำนวนประชากรสัตว์กลุ่มเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้าและตัดวงจรของโรคพิษสุนัขบ้าไม่ให้ก่ออันตรายสู่คน อัตราการพบโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยลดลง ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้า และสามารถเลี้ยงสัตว์ได้อย่างถูกวิธีและดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้าอีกด้วย
ภาพ : ฉัตรชัย นวลปลอด / ข่าว : จิราภรณ์ เกตุบูรณะ / กลุ่มเผยแพร่ฯ / สลก.
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลด พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง
วันที่ 18 ตุลาคม 2565 นายประยูร อินสกุล รักษาการปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 4/2565 ร่วมกับทุกหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและภูมิภาค (ผ่านระบบออนไลน์) ณ ห้องประชุม134-135 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าร่วมประชุมฯ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กรมปศุสัตว์ มอบหญ้าอาหารสัตว์ฯ แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมเสนอโครงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติจากสถานการณ์ฝนตกชุกสะสม และพายุดีเปรสชั่น “โนรู” ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้น 59 จังหวัด โดยขณะนี้สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ 31 จังหวัด และยังประสบอุทกภัย 28 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและโอกาสในการสร้างรายได้ที่เกษตรกรควรจะได้รับ ทำให้กระแสเงินสดในมือของเกษตรกรลดลง ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ พร้อมทั้งเร่งปรับแผนการบริหารจัดการน้ำและการบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและการเพาะปลูกตามแผนบริหารจัดการน้ำ
จากการสำรวจผลกระทบด้านการเกษตร ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 56 จังหวัด เกษตรกร 531,703 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 4,505,862 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 2,991,705 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 1,473,553 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 40,604 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 75,874 ราย พื้นที่ 730,327 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 556,677 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 170,077 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่น ๆ 3,573ไร่ คิดเป็นเงิน 1,097.16 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 765 ราย พื้นที่ 3,350 ไร่ วงเงิน 5.81 ล้านบาท
ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 42 จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ 22,854 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 26,116 ไร่ แบ่งเป็น บ่อปลา 25,750 ไร่ บ่อกุ้ง 366 ไร่ กระชง 11,172 ตรม. สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 537 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย 521 ไร่ กระชัง 11 ตร.ม. คิดเป็นเงิน 2.93 ล้านบาท ให้ความช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 156 ราย พื้นที่ 264 ไร่ วงเงิน 1.52 ล้านบาท
และ ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 16 จังหวัด เกษตรกร 21,625 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 1,337,182 ตัว แบ่งเป็น โค 52,412 ตัว กระบือ 15,378 ตัว สุกร 13,040 ตัว แพะ/แกะ 2,856 ตัว สัตว์ปีก 1,253,496 ตัว แปลงหญ้า 2,243ไร่ อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย
กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว โดยกรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 424 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 480 เครื่อง เครื่องจักรอื่น ๆ 20 เครื่อง และกระสอบทราย 12,000 กระสอบ กรมปศุสัตว์ ดำเนินการอพยพสัตว์ 20,391 ตัว แจกจ่ายหญ้าพระราชทาน 338.26 ตัน อาหาร TMR 6.50 ตัน สร้างเสริมสุขภาพสัตว์ 1,002 ตัว รักษาสัตว์ 51 ตัว และสนับสนุนถุงยังชีพสัตว์ 601 ชุด และ กรมประมง สนับสนุนเรือตรวจการ 57 ลำ รถยนต์ 50 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ 301 ราย
ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและตรวจสอบข้อมูล/เอกสารให้ครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งเตรียมเสนอโครงการ/มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน และได้เตรียมจัดพื้นที่ให้เกษตรกรได้นำสินค้าเกษตรมาขายที่องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) ภายหลังให้มีการปลูกพืชทดแทนหลังน้ำลด นอกจากนี้ ได้เตรียมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่ง (ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง) และเตรียมให้การสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ให้สามารถทำการผลิตได้ตามแผนการบริหารจัดการน้ำฯ ซึ่งจะมีการบูรณาการร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ด้วย