• กรมปศุสัตว์สั่งห้ามผู้ประกอบการขายสัตว์ปีกตาย

กรมปศุสัตว์หารือผู้ประกอบการถึงแนวทางดำเนินการไม่ให้มีการนำสัตว์ปีกป่วยตายออกไปถึงผู้บริโภค พร้อมสั่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด

          นายปรีชา  สมบูรณ์ประเสริฐ  อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า จากปัญหาการลักลอบนำซากไก่จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาชำแหละเพื่อจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมานั้น กรมปศุสัตว์ได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อสรุปและแนวทางดำเนินการเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำไก่ตายออกมาสู่ผู้บริโภคได้อีก นอกจากนี้ยังเป็นการควบคุม ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคที่อาจติดมากับตัวสัตว์ หรือมูลสัตว์ปีกแพร่กระจายโรคระบาดสัตว์ไปยังพื้นที่อื่น อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่เลี้ยงสัตว์อื่นๆ ต่อไปได้      

          กรมปศุสัตว์ ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการให้ทำลายไก่ที่ตายปกติ และมูลไก่ตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด  โดยไก่ตายให้ฝังกลบภายในฟาร์ม หรือเผาซากทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำซากไก่ออกมาขายได้อีก ส่วนมูลไก่ หรือขี้ไก่ให้ดำเนินการหลังจากนำไก่ส่งเข้าโรงฆ่าแล้วใน 2 วิธี วิธีที่ 1 หากเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการจัดการของเสีย ให้ดำเนินการฝังกลบภายในฟาร์ม วิธีที่ 2 หากเป็นฟาร์มรายย่อย ที่ไม่สามารถฝังกลบภายในฟาร์มตนเองได้ ให้หมักขี้ไก่ โดยการฉีดน้ำ หรือพรมน้ำมูลไก่ให้ชุ่ม จะทำให้เกิดกระบวนการย่อยสลาย ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในมูลไก่จะฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในมูลไก่ โดยต้องใช้เวลาในการหมักไม่น้อยกว่า 2 อาทิตย์ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะเข้าไปเก็บตัวอย่างมูลไก่เพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่ จากนั้นจึงจะอนุญาตให้ขายมูลไก่ได้ต่อไป และในระยะยาว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยังยืนต่อไป ที่ประชุมเห็นควรให้มีการจัดการซากสัตว์ที่ตายปกติ โดยวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ (rendering plant) เพื่อเป็นอาหารสัตว์อย่างถูกสุขอนามัยต่อไป     

          การลักลอบนำซากไก่ที่ตายออกนอกฟาร์มมาขายโดยไม่ผ่านมาตรวจโรคจากสัตวแพทย์นั้น มีความผิดตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผิดกฎหมายในการจำหน่ายเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ตามมาตรา 25  แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตัวละไม่เกิน 2,500 บาท เรียงตามรายตัวสัตว์ หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังสามารถดำเนินคดีกับฟาร์มที่กระทำความผิด โดยหากเป็นฟาร์มมาตรฐาน กรมปศุสัตว์จะพิจารณายกเลิกการรับรองเป็นฟาร์มมาตรฐานแก่ฟาร์มดังกล่าว และหากพบว่าสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มดังกล่าวกระทำความผิด กรมปศุสัตว์จะเสนอยกเลิกการเป็นสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มดังกล่าวอีกด้วย 

          นอกจากนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศเข้าตรวจสอบ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีก โรงฆ่าสัตว์ปีก และสถานที่ชำแหละสัตว์ปีก หากพบผู้กระทำผิดให้แจ้งความดำเนินคดีทันที พร้อมทั้งแจ้งไปยังเจ้าของฟาร์มสัตว์ปีกทั่วประเทศห้ามนำสัตว์ปีกตายออกนอกฟาร์ม ต้องทำลายในฟาร์มเท่านั้น หรือตามที่สัตวแพทย์กรมปศุสัตว์เห็นสมควร   

                                       ……………………………………………                                 

ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์                     

เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : น้องนุช  สาสะกุล  นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญ กรมปศุสัตว์

 

อ่านรายละเอียด