กรณีโคป่วยและตายที่จังหวัดตากด้วยอาการของโรคแบลคเลก ปศุสัตว์จังหวัดตากส่งสัตวแพทย์เข้าฉีดยาปฏิชีวนะรักษา ระดมฉีดวัคซีนป้องกัน สั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่ เตือนประชาชนอย่าชำแหละซากโคที่ป่วยตายหรือนำเนื้อจากโค ที่ป่วยตายมาบริโภค จะทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดออกไปมากขึ้น
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อบ่ายวันที่ 4 กันยายน 2561 ได้รับรายงานจากปศุสัตว์จังหวัดตาก กรณีเกิดเหตุการณ์โคป่วยและตายในพื้นที่ตำบลโป่งแดง อำเภอเมือง จังหวัดตาก จึงสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดตากจัดส่งสัตวแพทย์ลงพื้นที่เข้าไปรักษาและสอบสวนโรค โดยในเบื้องต้นสัตวแพทย์ตรวจพบว่า โคแสดงอาการป่วยตาย ด้วยโรคแบลคเลก (Blackleg) สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งโคที่แสดงอาการป่วยและตายนั้นน่าจะได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายด้วยการกินอาหารที่มีเชื้อโรคนี้ปะปนอยู่ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะไปอยู่ตามบริเวณที่มีกล้ามเนื้อหนาๆ เช่น กล้ามเนื้อสะโพก ขา ไหล่ หน้าอก คอหรือลิ้น เป็นต้น แล้วจะขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น พร้อมกับสร้างสารพิษออกมาทำลายกล้ามเนื้อรอบๆ บริเวณที่เชื้ออยู่ อาการสำคัญที่พบได้คือ มีไข้สูง เดินขากะเผลก กล้ามเนื้ออักเสบบริเวณต้นขาหลัง ซึ่งจะบวมร้อน และมีอากาศแทรกอยู่ภายใน เมื่อกดดูจะมีเสียงดังกรอบแกรบ และหากสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นมาดังกล่าว มีปริมาณมากและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต การรักษาอาจจะไม่ทันการ จึงทำให้โคเสียชีวิตได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่อไปว่า “ขณะนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้ประกาศให้ตำบลโป่งแดงทั้งตำบล เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิดแบล็คเลกแล้ว และปศุสัตว์จังหวัดตากได้สั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ในพื้นที่เกิดโรค พร้อมตั้งจุดสกัดการเคลื่อนย้าย เข้า-ออก เร่งฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโคที่เหลือซึ่งอยู่ร่วมฝูงกับโคป่วยตาย ส่วนโคที่ตายได้ชันสูตรซาก เก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการ แล้วทำการฝังกลบและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรอบบริเวณ นอกจากนี้ยังได้ระดมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแบลคเลคแบบปูพรม ให้กับโคในพื้นที่ตำบลโป่งแดงและพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะต้องทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแบล็คเลกให้กับโคทุกตัวที่อยู่ในพื้นที่เกิดโรคและพื้นที่สงสัยปีละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี รวมถึงได้ประชาสัมพันธ์เรื่องโรคให้เกษตรกรทราบเพื่อเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับเจ้าของสัตว์หรือประชาชนทั่วไป หากพบเห็นโค-กระบือ หรือสัตว์ชนิดอื่นป่วยตายและสงสัยว่าจะเป็นโรคระบาด ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือแจ้งข้อมูลได้ที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือต่อไปตามหลักการ “รู้โรคเร็ว ควบคุมโรคเร็ว” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวในที่สุด/.
ข้อมูล : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตาก และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ (วันที่ 4 กันยายน 2561)
ข่าว : เพ็ญศิริ ดวงอุดม สำนักงานเลขานุการกรม กรมปศุสัตว์