นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 12-16 พฤศจิกายน อธิบดีกรมปศุสัตว์จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สัตวแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักระบาดวิทยา และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คณะกรรมาธิการด้านปศุสัตว์ (APHCA) องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และสถาบันเพื่อการพัฒนาวิจัยปศุสัตว์ (ILRI) มากกว่า 700 คน จาก 70 ประเทศทั่วโลก ได้มาร่วมตัวกันที่จังหวัดเชียงใหม่ ในการประชุมระดับโลกด้านระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์และเศรษฐศาสตร์ปศุสัตว์ (ISVEE) ครั้งที่ 15 เพื่อหารือการป้องกันควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคระบาดสัตว์ ปัญหาโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ปัญหาเชื้อดื้อยา และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาดังกล่าว ซึ่งทุกประเทศ และนักวิจัยจากทั่วโลกต้องเร่งผนึกกำลัง และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ในการกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุม ในการประชุมครั้งนี้ รมช เกษตรฯ นายลักษณ์ วจนานวัช ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวเปิดการประชุมดังกล่าว
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ นายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมประชุมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การประชุมที่ประเทศไทยครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการประชุมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด มีผู้เข้าร่วมประชุมมากที่สุด และมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการกว่า 1,000 เรื่องตลอด 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะโรคระบาดสัตว์ เช่น ไข้หวัดนก โรคพิษสุนัขบ้า อหิวาห์สุกรแอฟริกา โรคปากและเท้าเปื่อย รวมถึงปัญหาเชื้อดื้อยา และความปลอดภัยอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งคนและสัตว์ และเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชุมได้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรภาคปศุสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรฯ ร่วมมือกันเพื่อป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคระบาดสัตว์ เสริมสร้างความเข้มแข็ง และการพัฒนาความรู้ความสามารถของสัตวแพทย์และปศุสัตว์ไทยในด้านระบาดวิทยา การป้องกันควบคุมโรค การเฝ้าระวังโรค และการวินิจฉัยโรคสัตว์ให้ก้าวหน้าต่อไป โดยประเทศไทยพร้อมเป็นผู้นำด้านปศุสัตว์และสัตวแพทย์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และขยายเครือข่ายความร่วมมือของนักวิจัยและสัตวแพทย์จากทั่วโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยไปสู่ตลาดโลก
นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูตฝ่ายเกษตร ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม กล่าวปิดท้ายว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกและลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ให้ทำหน้าที่ประธานสมาพันธ์ระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์และเศรษฐศาสตร์ปศุสัตว์ (ISVEE) โดยไทยจะทำหน้าที่ประธานสมาพันธ์ เป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2561-2564 ต่อไป
ที่มาของข้อมูล : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์