วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage Free) กับทางหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่กำกับดูแลด้านการนำเข้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ของประเทศญี่ปุ่น โดยต้องการศึกษาความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ประเทศไทย เกี่ยวกับมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage Free) เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับการควบคุมการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศญี่ปุ่น
การสร้างมาตรฐานไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage free) ในประเทศไทย มีปัจจัยมาจากผู้ประกอบการในธุรกิจไข่ไก่เล็งเห็นกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับการพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่จากระบบกรงตับ ไปสู่ระบบที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น ทำให้เกิดการผลักดันให้ความต้องการไข่ไก่ที่มาจากระบบการเลี้ยงที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์เช่น ไก่ไข่อินทรีย์ กลุ่ม Free Range Eggs รวมถึง Cage Free Eggs เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดกระแสความต้องการสินค้าไก่ไข่ที่มาจากระบบการเลี้ยงแบบไม่ใช้กรง (Cage free) ในประเทศไทย
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ ได้เริ่มให้การรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage free) ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage free) แล้วจำนวน 4 ราย กำลังการผลิตรวมประมาณ 150,000 ฟอง/วัน และมีเกษตรกรอีกหลายรายที่สนใจขอรับการรับรองฯ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองสามารถจำหน่ายสินค้าไข่ Cage free Eggs ส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง เป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าสินค้าไข่ไก่
สำหรับเครื่องหมายการรับรองการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง ได้ใช้การผสมผสานรูปโรงเรือนหัวใจ และตัวอักษร Q : Quality สื่อถึงการเลี้ยงไก่ไข่ที่มีการจัดการสภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมให้แม่ไก่มีสุขภาพที่ดี มีความสุข แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ ส่งผลให้ผลิตไข่ไก่ที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งผลักดันให้เกิดการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์ เพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค สีของเครื่องหมายการรับรอง สีเขียว สื่อถึงความเป็นธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ สีเหลืองทอง สื่อถึงความสุข มีคุณค่า และมีคุณภาพ
ณ ห้องทำงานรองอธิบดี ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์