วันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2565 เวลา 10.00น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสุรเดช สมิเปรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการประเมินความเสี่ยงการทุจริต กรมปศุสัตว์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ครั้งที่ 3 โดยมีผู้อำนวยการกอง/สำนักที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
การดำเนินการประเมินความเสี่ยงการทุจริต เป็นการดำเนินงานที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 – 2564) โดยกำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยอื่นที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นในสังกัดหรือกำกับดูแล ทำการประเมินความเสี่ยงการทุจริตสูง เพื่อกำหนดมาตรการแนวทางในการป้องกัน ควบคุม หรือลดความเสี่ยงต่อการทุจริตในหน่วยงาน โดยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเรื่องการประเมินความเสี่ยงทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ถูกกำหนดให้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงการทุจริตในด้านที่ 3 โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีงบประมาณสูงสุด โดยกรมปศุสัตว์ ได้ถูกกำหนดให้ดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงการทุจริตในด้านที่ 3 โครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินสูงสุดของหน่วยงานโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองคลัง กองแผนงาน กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานเลขานุการกรม สำนักกฎหมาย และกองการเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การประเมินความเสี่ยงการทุจริตในโครงการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินสูงสุด และการกำหนดมาตรการบริหารความเสี่ยงของกรมปศุสัตว์เป็นไปโดยละเอียดรอบคอบ และสอดคล้องกับการดำเนินงานตามภารกิจของกรมปศุสัตว์
ทั้งนี้ ขอบเขตในการประเมินความเสี่ยงทุจริตประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 แบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 การประเมินความเสี่ยงการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติอนุญาตตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ด้านที่ 2 การประเมินความเสี่ยงการทุจริตเกี่ยวกับความโปร่งใสของการใช้ตำแหน่งหน้าที่และความโปร่งใสในการใช้อำนาจ และด้านที่ 3 การประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับความโปร่งใสของการใช้จ่ายงบประมาณโดยคัดเลือกโครงการ ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่ต้องจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินงบประมาณสูงสุดของหน่วยงาน และงบประมาณพ.ศ.2565 นี้ สำนักงานป.ป.ท. ได้มีการประเมินเชิงคุณภาพ “มาตรการควบคุมความเสี่ยงการทุจริต” แบ่งระดับผลการประเมินเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1) P (Pass) ระดับพอใช้ 2) G (Good) ระดับดี และ 3) E (Excellent) ระดับยอดเยี่ยม
ภาพ : ฉัตรชัย นวลปลอด / ข่าว : วรรณกร ชัยรัตน์ กลุ่มเผยแพร่ฯ สลก.
ข้อมูลอ้างอิง : กองการเจ้าหน้าที่