วันที่ 24 มกราคม 2565 เวลา 17.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ Mr. Nikolaj Veje `อธิบดีหน่วยงานด้านสัตวแพทย์ ราชอาณาจักรเดนมาร์ก (Danish Veterinary and Food Administration: DVFA) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านวิชาการโคนมไทย - เดนมาร์ก ในรูปแบบระบบทางไกล (Virtual signing) โดยมี H.E. Jon Thorgaard เอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทยและกัมพูชา นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการลงนาม และนายสัตวแพทย์วัชรพล โชติยะปุตตะ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมพระพิรุณ ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์
การลงนามบันทึกความเข้าใจด้านวิชาการโคนมไทย - เดนมาร์ก มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการโคนมระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก โดยครอบคลุมเกี่ยวกับการพัฒนาพันธุ์โคนมและเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระบบการรีดนมและการจัดการฟาร์มโคนม และสวัสดิภาพสัตว์ สำหรับความสัมพันธ์ไทยและราชอาณาจักรเดนมาร์ก มีความเชื่อมโยงสืบต่อกันมายาวนานกว่า 400 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2160 สมัยอยุธยาเป็นราชธานี โดยราชอาณาจักรเดนมาร์กถือเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านโคนมเป็นอย่างมาก จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและราชอาณาจักรเดนมาร์กด้านโคนม เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2505 ครั้งสมเด็จพระราชาธิบดี เฟรดอริค ที่ 9 แห่งเดนมาร์ก และสมเด็จพระราชินีอิงกริดได้เสด็จเยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิธ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชวงศ์ทั้งสองได้ร่วมเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการฟาร์มโคนมไทย - เดนมาร์ก โดยพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ทรงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามวางรากฐานโครงการร่วมทุน ซึ่งเป็นรากฐานการก่อตั้งอุตสาหกรรมโคนมในประเทศไทย มากกว่า 60 ปี ความสัมพันธ์ด้านโคนมไทย – เดนมาร์ก ได้มีการพัฒนาทั้งเรื่องการปรับปรุงพันธุ์โคนม การฝึกอบรมเกษตรกร ในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรและการผลิตน้ำนมของราชอาณาจักรเดนมาร์กมาสู่ประเทศไทย จากเดิมที่นมยังไม่เป็นที่รู้จักในฐานะสินค้าอุปโภคบริโภคจนมาเป็นที่นิยมเช่นในปัจจุบัน "บันทึกความเข้าใจดังกล่าวนอกจากเป็นการพัฒนาความร่วมมือด้านโคนมระหว่างไทย- เดนมาร์กแล้วยังเป็นการยืนยันว่าระยะทางไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีมายาวนานกว่า 400 ปี และจะพัฒนาด้านโคนมระหว่างกันสืบไป ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิธในการที่จะให้ประชาชนชาวไทยอยู่ดีกินดี”
ข้อมูล : กองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ ข่าว : น.ส.วรรณกร ชัยรัตน์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ ภาพ ธงชัย สาลี สลก.