วันที่ 15 มิถุนายน 2565 เวลา 10.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีรับมอบและเปิดอาคารศูนย์ฝึกอบรมการวินิจฉัยโรคปากและเท้าเปื่อย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. สจ๊วต แบล็คเซล หัวหน้าโครงการ MORU Mr.Daniel Caporas ผู้แทนจาก DTRA, Mr. Marc Gilkey South Asia-Pacific Regiona
USDA Anirhal and Plant Health Inspection Sevice (APHIS) ปศุสัตว์เขต 3 ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ผู้อำนวยการศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แทนจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธี ณ ศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (Mahidol-Oxford Tropical Medicine Research Unit: MORU) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการซ่อมบำรุงอาคารห้องปฏิบัติการทางชีวภาพระดับ BSL 3 ของศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรูปแบบการบริจาค ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงาน Biological Threat Reduction Program (BTRP), Defense Threat Reduction Agency (DTRA) แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถทางสัตวแพทย์ของประเทศไทย และเสริมสร้างศักยภาพห้องปฏิบัติการทางสัตวแพทย์
การซ่อมบำรุงห้องปฏิบัติการศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ดำเนินงานซ่อมบำรุงห้องปฏิบัติการศูนย์อ้างอิงโรคปากและเท้าเปื่อย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล - อ๊อกฟอร์ด (Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit: MORU) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และมีผู้สนับสนุนงบประมาณการซ่อมบำรุง คือ องค์กรลดภัยคุกคาม (Defense Threat Reduction Agency: DTRA) ในสังกัดกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐฯ สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานซ่อมบำรุง โดยแบ่งเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟสที่ 1 การซ่อมแซมอาคารวินิจฉัย 2 เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการชั่วคราว ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเตรียมส่งมอบ และเฟสที่ 2 การซ่อมแซมอาคารห้องปฏิบัติการระดับ BSL 3 ซึ่งกำลังจะเริ่มดำเนินการ
“ความร่วมมือที่สำคัญในโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่องานของ RRLFMD และบุคลากรของโครงการ เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในประเทศ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในมิติด้านสุขภาพสัตว์โดยรวม ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการสร้างขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการสัตวแพทย์ในภูมิภาคนี้ในอนาคต” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
*********************************
ข้อมูล : กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ กองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ
ภาพ : ฉัตรชัย นวลปลอด / ข่าว : สลิลรัตน์ ชูโชติ / กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สลก. ข่าวปศุสัตว์