นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยประกาศว่าพบเชื้อ ASF กรมปศุสัตว์ระดมกำลังทั่วประเทศเน้นทำงานเชิงรุกเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ASF ไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้าง โดยเน้นหลักปฏิบัติสากลของระบาดวิทยาตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ที่ประกาศให้โรค ASF เป็นโรคระบาดสัตว์ การควบคุมโรคระบาดจึงเริ่มตั้งแต่สุกรมีชีวิตที่ฟาร์ม หากพบสุกรติดเชื้อ ASF ที่ป่วย ตายหรือสงสัยว่าติดเชื้อเพราะเลี้ยงด้วยกันต้องห้ามเคลื่อนย้ายสุกรทั้งหมดตามรัศมี 5 กิโลเมตรโดยรอบจุดพบโรค อีกทั้งสุกรทั้งหมดในจุดเกิดโรคต้องถูกกำจัดด้วยการเผาหรือฝังกลบตามหลักการเพื่อทำลายเชื้อ ห้ามนำเข้าฆ่าเพื่อบริโภคโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อ ASF แพร่กระจายออกไป โดยเฉพาะเชื้อไวรัส ASF ที่มีความทนทานอยู่รอดในสิ่งต่างๆ ได้ยาวนาน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้างและให้ประเทศไทยควบคุมการระบาดของโรค ASF ได้โดยไว ทั้งนี้หลักปฏิบัติดังกล่าวเป็นข้อบังคับตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติทั้งเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ หากต้องสงสัยการติดเชื้อ ASF ในสุกร เช่น มีการตายเฉียบพลัน มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก หรือรอยช้ำโดยเฉพาะหลังใบหู ท้อง ขาหลัง มีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในช่วงของการตั้งท้อง ให้รีบแจ้งกรมปศุสัตว์ทันทีที่เบอร์ 063-225-6888 เพื่อเข้าควบคุมโรคและดำเนินการชดเชยตามกฎหมายต่อไป รวมทั้งการเคลื่อนย้ายสุกรและซากสุกรต้องมีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายให้ถูกต้องทุกครั้ง ขอความร่วมมืออย่าปิดบังโรคเพราะจะทำให้ฟาร์มท่านคุมโรคไม่ได้ มีโรควนเวียนในฟาร์มอีกยาวนานยิ่งสร้างความเสียหายมากกว่าเดิมและที่ลักลอบนำไปจำหน่ายไม่คุ้มกับการที่รัฐชดเชยให้แต่อย่างใด อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐจะช่วยให้คำแนะนำในการปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ตามมาตรฐาน GFM หรือ GAP เพื่อป้องกันโรคนี้ให้แก่ฟาร์มท่าน
กรมปศุสัตว์ยังขอยืนยันด้วยข้อมูลทางวิชาการว่าโรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ย้ำว่าไม่ก่อโรคในคนหรือสัตว์อื่นแน่นอน และขอผู้บริโภคให้มั่นใจได้ว่าเนื้อและอวัยวะสุกรที่จำหน่ายในไทยยังมีความปลอดภัยรับประทานได้ตามปกติ เนื้อสุกรส่วนใหญ่ตามสถานที่จำหน่ายมีความปลอดภัยจากเชื้อ ASF เพราะตาม พ.ร.บ.ควบคุมการสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาตต้องเข้มงวดตรวจสอบคัดกรองสุขภาพก่อนฆ่า (Ante-mortem inspection) แหละหลังฆ่า (Post-mortem inspection) ไม่ให้มีสุกรป่วยด้วยอาการ ASF หรือโรคระบาดอื่นๆ เข้าผลิตและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นการควบคุมการระบาดของโรคที่สำคัญอีกจุดหนึ่งด้วย จะเห็นได้ว่ากรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญกับการสกัดกั้นเชื้อ ASF ตั้งแต่ที่ฟาร์มจนถึงหน้าโรงฆ่าเพื่อควบคุมไม่ให้มีเชื้อ ASF หลุดไปในเนื้อสุกรเนื่องจากหากมีเนื้อสุกรที่สงสัยว่าติดเชื้อ ASF หลุดเข้าไปในตลาดในเขียงจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปเป็นบริเวณกว้างยากต่อการควบคุมทำให้เกิดโรคต่อเนื่องในไทย
สุดท้ายนี้ แนะนำให้ประชาชนปรุงเนื้อสุกรให้สุกก่อนการบริโภคทุกครั้งด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส เวลา 30 นาทีขึ้นไปเพื่อทำลายเชื้อโรค ASF อีกทั้งยังทำลายเชื้ออื่นๆที่อาจจะติดมาด้วย เช่น โรคหูดับ โรคพยาธิหรือโรคที่ทำให้เกิดท้องเสีย เป็นต้น และสามารถเลี่ยงความเสี่ยงจากโรคเหล่านี้ได้ด้วยการเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือ มีสุขอนามัยการผลิตที่ดีและสามมารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ามาจากฟาร์ม GAP และโรงฆ่ามาตรฐาน ดังเช่นสถานที่จำหน่ายที่ได้รับรอง “ปศุสัตว์ OK” เท่านี้ก็จะยิ่งสบายใจทานเนื้อสุกรได้ตามปกติ หากมีข้อสอบถามเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ผ่าน Application: DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวและข้อมูลโดย : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ (17 มกราคม 2565)