นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากรายงานของผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 พื้นที่ติดเทือกเขาพังเหย ต.นายางกลัก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ได้พบสัตว์ปีกของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้เพื่อขายเสียชีวิต 200 กว่าตัว ทำให้สูญเสียรายได้จากการเลี้ยงครั้งนี้เป็นจำนวนมาก นายสมศรี กองเงินนอก อายุ 54 ปี บ้านเลขที่ 453 ชาวบ้านหมู่ที่ 1 และชาวบ้านห้วยหินฝน หมู่ที่ 11 กล่าวว่าไก่ที่ตาย ส่วนมากเป็นไก่อายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุการตายเกิดจากสภาพอากาศเย็ดจัดถึง 17 องศา เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในปัจจุบัน ประกอบกับไม่พบบาดแผลและวิการอื่นๆที่สื่อให้ถึงการเป็นโรคระบาด
ในปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน จากสภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันโรคลดลง อาจทำให้สัตว์ป่วยได้ง่าย จึงขอให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกทั่วทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังดูแลสุขภาพสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด โดยจัดเตรียมวิตามินและเกลือแร่ให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง จัดเตรียมโรงเรือนเพื่อเป็นที่กำบังลม ฝนให้กับสัตว์ปีกในโรงเรือน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความห่วงใยถึงเกษตรกรทุกรายที่ได้รับผลกระทบ ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ และตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ให้คำแนะนำการสร้างความอบอุ่นให้แก่สัตว์สัตว์ปีก เช่น จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถเป็นที่กำบังให้สัตว์จากสภาพอากาศหนาวหรือฝน เช่น ผ้าใบ และพร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบหาโรคระบาดในสัตว์ปีก และส่งเสริมยกระดับการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management ; GFM) เพื่อเพิ่มงวดความปลอดภัยทางชีวภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถป้องกันโรคระบาดต่างๆได้อีกด้วย
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลาอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
ข้อมูล: สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ข่าวปศุสัตว์