วันที่ 10 กรกฎาคม 2563 เวลา 15.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้สัมภาษณ์รายการ Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS ประเด็น "โครงการสุนัขชุมชนเพื่อการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืน"
เนื่องด้วยสถานการณ์ปัญหาเกี่ยวกับสุนัขจรจัดยังเป็นปัญหาที่สำคัญส่งผลกระทบต่อสังคมและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจทั่วประเทศขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนสุนัขจรจัด 2.493 ล้านตัว ซึ่งสุนัขจรจัดแบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกคือ สุนัขที่ไม่มีเจ้าของ ใช้ชีวิตหากินอิสระตามที่สาธารณะ ไม่มีคนดูแลหรือให้อาหาร กลุ่มที่ 2 คือ สุนัขที่ไม่มีเจ้าของ ใช้ชีวิตหากินอิสระตามที่สาธารณะ มีคนให้อาหารบ้าง ส่วนใหญ่ไม่มีความสัมพันธ์กับคนทั่วไป ไม่สามารถจับฉีดวัคซีนหรือผ่าตัดทำหมันได้ กลุ่มที่ 3 คือ สุนัขกึ่งจรจัดที่อยู่ตามชุมชน มีคนให้อาหารและดูแลบ้าง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคน ส่วนใหญ่คนดูแลสามารถจับเพื่อทำวัคซีนและผ่าตัดทำหมันได้ ส่วนสุนัขชุมชน คือ สุนัขกึ่งจรจัดที่คนในชุมชนนั้นๆ ให้การยอมรับ มีอาสาสมัครในชุมชนช่วยกันดูแลเรื่องความเป็นอยู่ อาหาร สุขภาพ และสวัสดิภาพสุนัข ซึ่งกล่าวได้ว่า สุนัขชุมชน “เป็นสุนัขของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน”
แนวทางแก้ปัญหาสุนัขจรจัดที่ภาครัฐสนับสนุนให้เข้ากับบริบทชุมชนมีหลายวิธีการที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน ประกอบด้วย การสร้างจิตสำนึกและทัศนคติที่ถูกต้องให้มีการเลี้ยงสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบ การควบคุมสุนัขจรจัดโดยการผ่าตัดทำหมัน การขึ้นทะเบียนสุนัข การส่งเสริมและสนับสนุนสถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อให้การเลี้ยงดูสุนัขจรจัด และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
กรมปศุสัตว์จึงพิจารณาเห็นว่าการจัดการสุนัขที่เรียกว่า “สุนัขชุมชน” เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาสุนัขจรจัดและเข้ากับบริบทของสังคมไทยได้ จึงได้มีการดำเนินโครงการสุนัขชุมชนตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม และโครงการจัดการปัญหาสุนัขในเขตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโมเดลสุนัขชุมชนตัวอย่างและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน เป็นการแก้ปัญหาของสุนัขในพื้นที่สาธารณะได้อย่างยั่งยืน มีการจัดอาสาสมัครช่วยดูแล การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การผ่าตัดทำหมัน การขึ้นทะเบียน การทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ การตรวจสุขภาพพื้นฐาน การกำจัดเห็บหมัดและถ่ายพยาธิ และการรักษาโรคในสุนัข กรมปศุสัตว์ให้การสนับสนุนการดำเนินการในการบริการทางการสัตวแพทย์ เช่น การทำหมัน การถ่ายพยาธิ การฉีดวัคซีน และการสร้างเข้าใจและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งสามารถช่วยให้สุนัขอยู่ร่วมในชุมชนได้ เป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนมีแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเจ้าของทุกคนเลี้ยงสุนัขอย่างมีความรับผิดชอบในการดูแลสุนัขของตนอย่างดี ทั้งด้านสุขภาพ สวัสดิภาพ มีการผ่าตัดทำหมัน และไม่ทอดทิ้งให้เป็นปัญหาของชุมชน ณ ห้องซุ้มเรือนแก้ว ตึกอำนวยการ กรมปศุสัตว์ อ่านรายละเอียด