วันที่ 24 สิงหาคม 2563 เวลา 13.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาการติดตามผลสำเร็จการดำเนินงานกรมปศุสัตว์ ปีงบประมาณ 2563 และมอบนโยบายการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2564 (ส่วนกลาง เขต1, 2 และ 7) พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ ปศุสัตว์เขต 1 นายพนม มีศิริพันธุ์ ปศุสัตว์เขต 2 นายสัตวแพทย์ชุมพล บุญรอด ปศุสัตว์เขต 7 ผู้อำนวยการกอง/สำนัก หัวหน้ากลุ่ม/ฝ่าย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
การขับเคลื่อนและภารกิจในการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ประกอบด้วยด้านการบริหารจัดการ ด้านการผลิต สนับสนุนและส่งเสริม ด้านมาตรฐานปศุสัตว์และความปลอดภัยอาหาร และด้านสุขภาพสัตว์ โครงการและผลการดำเนินงานที่ได้มอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนงานในแต่ละด้าน ดังนี้
- ด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ การตรวจประเมินรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ PMQA 4.0 จากสำนักงาน ก.พ.ร. การพัฒนาระบบราชการ 4.0 ของกรมปศุสัตว์ เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง การมีส่วนร่วม นวัตกรรม และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน (Collaboration, Innovation, Digitalization), รางวัล คุณภาพกรมปศุสัตว์ ประจำปี พ.ศ. 2563 (DLD Quality Awards 2020) เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนงานอย่างต่อเนื่อง, การเปิดรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครื่อง EDC สามารถอำนวยความสะดวกและปลอดภัย ไม่ต้องพกพาเงินสด สามารถใช้ได้กับบัตรเครดิต/เดบิตของทุกธนาคาร, ผลการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ (ตุลาคม 62 – สิงหาคม 63) รวมทั้งสิ้น 229 ตำแหน่ง ส่วนกลาง 73 ตำแหน่งและส่วนภูมิภาค 156 ตำแหน่ง และการปรับปรุงอาคาร บ้านพัก สิ่งก่อสร้างและจัดหายานพาหนะ
- ด้านสุขภาพสัตว์ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF), การควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคอุบัติใหม่โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) และการควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โดยปี 2563 นี้กรมปศุสัตว์เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับ 6 หน่วยงานในการจัดงานวันพิษสุนัขบ้าโลก World Rabies Day 2020 ในวันที่ 28 กันยายน 2563 ผ่านระบบออนไลน์ ในทรีมงาน “End Rabies: Collaborate, Vaccinate”
- ด้านการผลิต สนับสนุนและส่งเสริม ได้แก่ พันธุ์สัตว์พระราชทาน, การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์เป็ดบางปะกง, การส่งเสริมการแปรรูปและตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นผู้ค้าออนไลน์อย่างมืออาชีพ และศูนย์บริการอาหารสัตว์ (Feed center) 13 แห่ง
- ด้านมาตรฐานปศุสัตว์และความปลอดภัยอาหาร ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลด้านการปศุสัตว์, โครงการปศุสัตว์ OK ขยายขอบข่ายการรับรองในเนื้อสัตว์และไข่ เพิ่มการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้มีกิจกรรมให้ความรู้ด้านอาหารปลอดภัยแก่นักเรียน (Food Education) และการเพิ่มมาตรฐาน, แนวทางการจัดการด้านสวัสดิภาพช้าง, แนวทางการจัดการด้านสวัสดิภาพในสุนัขในสถานที่เพาะพันธุ์, แนวทางการจัดการสุนัขจรจัดในรูปแบบสุนัขชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วม, แนวทางการดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสถานที่ขายสัตว์เลี้ยง และการตรวจประเมินระบบการผลิตสัตว์ปีกด้านอาหารปลอดภัยและด้านสุขภาพสัตว์
โดยนโยบายและการขับเคลื่อนการดำเนินงานในปี 2564 ให้ทุกหน่วยงาน เขต และจังหวัด ทำงานเชิงรุก รวดเร็ว ทันสถานการณ์ และเพิ่มประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยครอบคลุมทั้งด้านงบประมาณ การดำเนินงาน และบุคลากร
ณ โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่านรายละเอียด