วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.48 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านดงพระพร (ศูนย์ผลิตและกระจายพันธุ์สัตว์) จังหวัดเชียงราย โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยนายสุรเดช สมิเปรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์พืชผล น้อยนาฝาย ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย พร้อมคณะฯ เฝ้ารับเสด็จฯ
ในปี 2560 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิชัยพัฒนา จัดตั้งเป็นศูนย์ผลิตและกระจายพันธุ์สัตว์ เช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทาน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และศูนย์พัฒนาพันธุ์สัตว์พระราชทาน บ้านหนองชะลาบ จังหวัดตาก ศูนย์ฯ แห่งนี้ เน้นเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ใหญ่ เช่น แพะพันธุ์ชามี่ และโคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์ สำหรับพระราชทาน และยังเป็นศูนย์สาธิต ฝึกอบรมเทคโนโลยีการเลี้ยงแพะ โค รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีในการเลี้ยงสัตว์ และการผลิตอาหารสัตว์โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น เมื่อเริ่มโครงการฯ มีแพะพันธุ์ชามี่ทั้งหมด 50 ตัว ซึ่งนำเข้าจากสาธารณรัฐไซปรัส และกรมปศุสัตว์น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ปัจจุบัน มีแพะพันธุ์ชามี่ รวม 94 ตัว ส่วนการดำเนินงานด้านการจัดการฝูงผสมพันธุ์ แบ่งได้ 5 กลุ่ม เพื่อป้องกันการผสมเลือดชิด และคงสภาพความเป็นฝูงปิดในช่วงระยะเวลา 8-10 ปี มีแพะวัยเจริญพันธุ์ รวม 41 ตัว ตั้งท้อง 9 ตัว ท้องว่าง 32 ตัว ปัจจุบันโครงการฯ สามารถผลิตน้ำนมแพะเพียงพอใช้เลี้ยงลูกแพะที่เกิดในโครงการฯ มีศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จังหวัดลำปาง ตรวจคุณภาพน้ำนมแพะ พบว่าค่าเฉลี่ยปริมาณจุลินทรีย์ในน้ำนมแพะ และค่าเฉลี่ยปริมาณเนื้อนมรวมในน้ำนมแพะอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ช่วยดูแลด้านการจัดการสุขภาพแพะ มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย ถ่ายพยาธิ ตรวจสุขภาพทั่วไปทุกสัปดาห์ และตรวจประเมินปัญหาสุขภาพ และโรคต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ด้านการจัดการพืชอาหารสัตว์ มีศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เชียงราย ร่วมปรับปรุงแปลงพืชอาหารสัตว์และแปลงสาธิตโครงการฯ พื้นที่ 103 ไร่ แบ่งเป็น 5 แปลงย่อย อาทิ แปลงหญ้าสำหรับทำเสบียงสัตว์, แปลงหญ้าสาธิต, แปลงหญ้าสำหรับปล่อยแพะแทะเล็ม ในอนาคตมีแผนพัฒนาไปสู่แปลงพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพที่ดีและมีมาตรฐาน เป็นแหล่งกระจายความรู้ด้านอาหารสัตว์แก่ผู้สนใจ และเป็นแหล่งพันธุกรรมพืชอาหารสัตว์ต่อไป สำหรับงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมแพะ มีศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์เชียงใหม่ ช่วยให้ความรู้เรื่องการแปรรูปน้ำนมและเนยแข็ง ทดลองผลิตเนยแข็งเชดด้า เนยแข็งเกาด้า และฮาลูมีชีสจากนมแพะพันธุ์ชามี่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากนมแพะพันธุ์ชามี่ในอนาคต โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการรีดนมแพะ และพระราชทานชื่อลูกแพะพันธุ์ชามี่ อายุ 3 เดือนครึ่ง เป็นลูกแพะรุ่นแรกที่เกิดจากการผสมเทียมของโครงการฯ เพศผู้ชื่อ "พรประเสริฐ" และเพศเมียชื่อ "พรนำสุข" ปัจจุบันโครงการฯ ได้พัฒนามาตรฐานการเลี้ยง เพิ่มคุณภาพผลผลิตด้านปศุสัตว์ ตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ และได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ สำหรับฟาร์มแพะนม (มาตรฐานฟาร์มแพะนม) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564
ภาพ ธงชัย สาลี กรมปศุสัตว์,สำนักงาน กปร. /ข่าวในพระราชสํานัก