"กรมปศุสัตว์เข้าร่วมการสัมมนาระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง แนวทางการทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Susceptibility test (AST) สำหรับปศุสัตว์"
วันพุธที่ 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดี กรมปศุสัตว์ เป็นประธานการสัมมนาระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง แนวทางการทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Susceptibility test (AST) สำหรับปศุสัตว์ ซึ่งจัดโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช) ณ ห้องประชุม 351 อาคาร 3 ชั้น 5 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Zoom meeting) โดยมีผู้แทนของกรมปศุสัตว์ที่เป็นคณะกรรมการวิชาการฯ เข้าร่วมด้วย ได้แก่ สพ.ญ. ธนิดา หรินทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ สพส. และ สพ.ญ ธรรมรัฐ สุจิต นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สสช. พร้อมด้วยคณะกรรมการวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัตวแพทยสภา สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และมีผู้เข้าร่วมรับฟัง อภิปรายและให้ข้อคิดเห็นในการสัมมนาจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำข้อคิดเห็นนำมาปรับปรุงร่างมาตรฐานดังกล่าวให้เหมาะสมที่สุดก่อนเสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป
โดย (ร่าง) มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง แนวทางการทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Susceptibility test (AST) สำหรับปศุสัตว์ นั้นได้ถูกพิจารณาจัดทำขึ้นตามข้อกำหนดของ Codex ที่ได้ประกาศ Code of Practice to Minimize and Contain Foodborne Antimicrobial Resistance (CXC 61-2005) และ Guidelines for integrated monitoring and surveillance of foodborne AMR (GLIS) ที่นำ One Health approach มาใช้ในการลดและควบคุมการเกิดเชื้อดื้อยาที่มีอาหารเป็นสื่อ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งครอบคลุมระบบการผลิตสัตว์ปศุสัตว์ สัตว์น้ำ เกษตรกรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามยังไม่มีมาตรฐานระหว่างประเทศหรือวิธีมาตรฐานสำหรับการตรวจหาเชื้อดื้อยาในพืชอาหาร ในขณะที่การยกร่างมาตรฐานฯ ได้ใช้คู่มือการชันสูตรโรคและการใช้วัคซีนในสัตว์บกของ OIE เป็นเอกสารอ้างอิงหลัก ซึ่งเน้นเฉพาะสุขภาพสัตว์
OIE มีวัตถุประสงค์ในการนำวิธี antimicrobial susceptibility testing (AST) ไปใช้สำหรับ
1) ทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพของเชื้อก่อโรค เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเลือกใช้ยาในการรักษาอย่างสมเหตุผล
2) นำไปใช้ในการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาในสัตว์ เพื่อปรับประสานการดำเนินการของห้องปฏิบัติการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สามารถให้ผล AST ที่นำมาเปรียบเทียบกันได้
ทั้งนี้ ทางด้านความปลอดภัยอาหารสำหรับระบบการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ การกำหนดแนวทางการทดสอบ AST ที่มีความเชื่อมโยงกับมาตรฐานการเฝ้าระวังและตรวจติดตามเชื้อดื้อยาสำหรับปศุสัตว์ (มกษ 9062-2565) ที่ประกาศใช้แล้ว จะเป็นอีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในระดับโลกต่อไป
ภาพ/ข่าว/ทีมงานรองอธิบดี