วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 9.00น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ติดตามงานโดยมีนายสัตวแพทย์ ชุมพล บุญรอด ปศุสัตว์เขต 7 นายผดุงศักดิ์ แดงด้อมยุทธ์รักษาการปศุสัตว์จังหวัดสมุทรสงคราม ,น.ส.เยาวนิตย์ บุรีรักษา เลขานุการกรม,นางเย็นจิต ทองยงค์ ผอ.กองคลัง,ผู้แทนกกจ,และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรสงครามเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่ากรมปศุสัตว์ มีภารกิจเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางและนโยบาย การควบคุม การกำกับ การส่งเสริม การวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการปศุสัตว์ รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพด้านการปศุสัตว์ เพื่อให้มีปริมาณสัตว์เพียงพอ และมีมาตรฐาน ถูกสุขอนามัย ปราศจากโรค สารตกค้าง และสารปนเปื้อน มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากลนอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังมีพรบ.ที่ต้องรับผิดชอบมีทั้งหมด 7 ฉบับ ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม (2) พระราชบัญญัติการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งกฎกระทรวงต่าง ๆ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติฉบับนี้ (3) พระราชบัญญัติการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม (4) พระราชบัญญัติบำรุงพันธุ์สัตว์ พ.ศ. 2509 (5) พระราชบัญญัติสถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ. 2533 (6) พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 (7) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ถือว่าต้องใช้ความรับผิดชอบในการดำเนินงานเป็นอย่างมากภายใต้การทำงานที่มีข้อจำกัดในเรื่องของบุคคลากร เรื่องงบประมาณ และนอกจากนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ดำเนินงานด้านปศุสัตว์ให้เป็นไปตามแผนงานและนโยบายของกรมปศุสัตว์ที่ตั้งไว้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดโดยยึดประโยชน์ของเกษตรกรในพื้นที่เป็นสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเกิดการพัฒนางานในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์เน้นย้ำการขับเคลื่อนงานของกรมปศุสัตว์ 4 ด้านหลัก ดังนี้
1. ด้านผลิตและส่งเสริม เน้นการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตามศักยภาพในพื้นที่ การผลิตพันธุ์สัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ และการช่วยเหลือภัยพิบัติให้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือให้ทันถ่วงทีนอกจากนี้ให้เน้นโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโค-กระบือ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงแพะ เพื่อเพิ่มปริมาณแพะเนื้อในประเทศให้มากขึ้นเพราะปัจจุบันแพะเนื้อเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2. ด้านสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ เช่น การควบคุมและป้องกันโรค เข้มงวดในการกักสัตว์และเคลื่อนย้าย เช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โรคไข้หวัดนก (AI)การควบคุมโรคสัตว์เคี้ยวเอื้องอาทิเช่นโรคลัมปีสกิน (LSD)โรคปากและเท้าเปื่อย(FMD)โรคเฮโมรายิกเซฟติซีเมีย(Hemo) เป็นต้นโดยทุกโรคเน้นเชิงรุก สอบสวนโรค คุมสถานการณ์และการระบาดให้รวดเร็ว ตามหลัก "รู้เร็ว สงบเร็ว" และการสร้างเครือข่ายปฏิบัติงานในพื้นที่
3. ด้านคุณภาพมาตรฐานสินค้า (food safety) ให้รักษาคุณภาพมาตรฐานมากกว่าปริมาณ ตรวจติดตามเพื่อรักษามาตรฐานสินค้าด้านปศุสัตว์นอกจากนี้เน้นย้ำโครงการปศุสัตว์ OK ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่กรมปศุสัตว์ได้ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร ตั้งแต่การเลี้ยงที่ได้มาตรฐานการเชือดชำแหละที่ถูกสุขลักษณะและสุขอนามัย และเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนคนไทยได้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐานการผลิต เพื่อสร้างความปลอดภัยขั้นพื้นฐานให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
4. ด้านการบริหาร การใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า การบริหารบุคลากร การบรรจุแต่งตั้งอย่างเป็นธรรม การปรับปรุงอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และยานพาหนะ
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการปฏิบัติงาน เน้นเชิงรุก ยึดสุจริตและโปร่งใสเป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล ด้านงบประมาณ ให้ใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และด้านบุคลากร ให้พัฒนาองค์ความรู้เพิ่มศักยภาพของตนเองเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและประเทศชาติต่อไป และที่สำคัญที่สุดขอให้ทุกคนรู้รักสามัคคี พร้อมอธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมรับฟังปัญหา/อุปสรรค ของการดำเนินงานในพื้นที่ เพื่อนำปัญหาดังกล่าวไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงชี้แนะหลักการในการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์ ให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรและสำเร็จตามเป้าหมายการดำเนินงานต่อไป ณ อำเภอบ้านปรก จังหวัดสมุทรสงคราม