กรมปศุสัตว์ ร่วมกับ มกอช ระดมความเห็นทุกภาคส่วนต่อร่างมาตรฐานศูนย์รวบรวมไข่
วันที่ 16 กันยายน 2565 เวลา 9.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุม การสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ (ทบทวน) ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดา ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
โดยนางสาวยุพา เหล่าจินดาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักกำหนดมาตรฐาน กล่าวเปิดการสัมมนาฯ โดยมีผู้เข้าร่วม on site 40 คน และผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ แบบออนไลน์ประมาณ 180 ท่าน ซึ่งวิทยากรในวันนี้ได้รับเกียรติจาก นายสัตวแพทย์เอกชัย ก่อเกียรติสกุลชัย ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุเชษฐ์ สมุหเสนีโต ผู้แทนคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร นายสัตวแพทย์กิตติ ทรัพย์ชูกุล ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายชัยพร สีถัน ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ นายจิรศักดิ์ เดชอายุมนตรี ผู้แทนสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ นางสาวณฐภัทร บุญเกิดทรัพย์สิน ผู้แทนผู้ประกอบการรวบรวมไข่ไก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ (มกษ. 6910-2555) แล้วเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2555
ปัจจุบันศูนย์รวบรวมไข่ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์มีจำนวน 217 แห่ง มีศูนย์รวบรวมไข่ที่ได้รับการรับรอง GMP จำนวน 53 แห่ง อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์พิจารณาแล้วเห็นว่าควรมีการทบทวนปรับปรุงเนื้อหาในมาตรฐาน โดยขอให้มีแนวปฏิบัติที่ดีด้านสุขลักษณะที่เฉพาะ เช่น ประเด็นการแยกพื้นที่และผู้ปฏิบัติงานในส่วนก่อนคัดคุณภาพและส่วนที่ผ่านการคัดคุณภาพแล้ว เพื่อลดการปนเปื้อนข้าม อีกทั้งแนวทางการปฏิบัติหรือควบคุมคุณภาพไข่ในกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตไข่ที่มีคุณภาพแก่ผู้บริโภค มกอช. จึงมีการพิจารณาทบทวนมาตรฐานโดยคณะกรรมการวิชาการฯ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหามาแล้ว 2 ครั้ง และในวันนี้เพื่อเป็นการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่กว้างขวางมากขึ้น
การสัมมนาระดมความเห็นฯ ในวันนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมไข่ (ทบทวน) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน และนำข้อคิดเห็นมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างมาตรฐานฯ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติต่างๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ร่างมาตรฐานฯ ฉบับนี้ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ อยู่ในแนวทางที่เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และสามารถนำไปปฏิบัติได้ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศเป็นมาตรฐานของประเทศต่อไป
ภาพ ธงชัย สาลี สลก.