กรมปศุสัตว์ ติวเข้มเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพสัตว์ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงาน
วันพุธที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนา "การบูรณาการงานด้านสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566" ของสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 13-15 มีนาคม 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ จำนวนกว่า 200 คน ประกอบด้วย นายสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพสัตว์จากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากสำนักงานปศุสัตว์เขต สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด กองสารวัตรและกักกัน สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ประจำภูมิภาค สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ และสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ณ โรงแรม ชลจันทร์ พัทยา บีช รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี
สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการด้านสุขภาพสัตว์ ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค และสากล โดยดำเนินการควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรค ที่มีผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชน และโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมด้านปศุสัตว์ หลายประเทศทั่วโลก เผชิญกับภัยที่มาจากโรคระบาดสัตว์ไม่ว่าจะเป็น โรคระบาดสัตว์ประจำถิ่น โรคระบาดสัตว์อุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญต่อการเลี้ยงปศุสัตว์ ในประเทศและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ สถานการณ์โรคระบาดสัตว์ มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นทุกปี มีความรุนแรงและยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นในการจัดการควบคุม และป้องกันโรค
การจัดให้มีการประชุมสัมมนา "การบูรณาการงานด้านสุขภาพสัตว์ กรมปศุสัตว์ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566" ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจแนวทางในการบูรณาการการดำเนินการตามภารกิจด้านต่างๆ ในการดูแลสุขภาพสัตว์ร่วมกัน ทั้งในสภาวะปกติ และในกรณีเพื่อการควบคุม ป้องการโรค และกรณีเกิดโรคระบาด รวมถึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในด้านสุขภาพสัตว์ และแนวทางปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับข้อบังคับทางกฎหมาย สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ดังนั้น การทำงานด้านสุขภาพสัตว์จากนี้ไป ต้องพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ พัฒนาเครื่องมือในการเฝ้าระวัง เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานของเจ้าหน้าที่ พัฒนาเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคสัตว์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังโรคสัตว์ นอกจากนี้ยังต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในองค์กร เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน วิเคราะห์แนวทางในการแก้ไขปัญหา และปรับปรุงแนวทางการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านสุขภาพสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายต่อไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของเกษตรกรและประชาชน
ภาพ ธงชัย สาลี / ข่าว สลิลรัตน์ ชูโชติ สลก.