กรมปศุสัตว์ร่วมแถลงข่าวงานแพะแห่งชาติครั้งที่ 20 จังหวัดกาญจนบุรี
วันที่ 22 มีนาคม 2567 นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานแถลงข่าวโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ) และงานแพะแห่งชาติ ครั้ง ที่ 20 โดยมีนายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์เขต 7 กล่าวถึงรายละเอียดการจัดงานแพะแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ณ ห้องประชุมบุษราคัม องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
นายรณภพ เวียงสิมมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดเชียงใหม่ ทิศตะวันตกมีอาณาเขตติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร โดยจังหวัดกาญจนบุรีถือว่ามีความพร้อมในการประกอบอาชีพเลี้ยงแพะ เมื่อพิจารณาตามปัจจัยในด้านต่างๆ ได้ดังนี้
- ด้านเกษตรกร จากข้อมูลจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และปศุสัตว์ ปี 2566 ของศูนย์สารสนเทศและการสื่อสาร กรมปศุสัตว์ พบว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนเลี้ยงแพะ 3,484 ราย จำนวน 135,260 ตัว เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งการเลี้ยงแพะใช้พื้นที่ไม่มาก อาหารหาได้ง่ายในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจในการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ ต้นทุนในการเลี้ยงเริ่มแรกไม่สูง เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนอาชีพจากการเกษตรกรรมด้านอื่นๆ มาเลี้ยงแพะ เป็นอาชีพที่สร้างรายได้แทน
- ด้านสภาพแวดล้อม/พื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรีมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม อากาศโปร่ง ความชื้นต่ำ และมีพื้นที่กว้าง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นป่าไม้และภูเขาสูง มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีเขื่อนขนาดใหญ่สำหรับกักเก็บน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและชลประทาน เหมาะกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเลี้ยงแพะ
- ด้านการตลาด จากปริมาณผลผลิตแพะของเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี ที่จำหน่ายไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย จีน และเวียดนาม เป็นต้น สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสในการพัฒนาให้ไปสู่การเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างมั่นคงและยั่งยืน
จังหวัดกาญจนบุรี ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แพะและการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะ จึงบูรณาการร่วมกับกรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเพาะปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ) ในรูปแบบงานแพะแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 29 - 30 มีนาคม 2567 ณ บริเวณลานข้างองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ตำบลท่ามะขาม อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาชนและเกษตรกรผู้เข้าร่วมงาน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดงานในครั้งนี้
นายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์เขต 7 กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในด้านการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแพะแก่เกษตรกร โดยแนวทางที่ใช้ในการส่งเสริมได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป และการจัดการด้านการตลาด เน้นการตลาดนำการผลิตตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งวิธีการหนึ่งที่ดำเนินการในด้านการส่งเสริม คือการจัดงานมหกรรมปศุสัตว์ ในที่เป็นการจัดงานแพะแห่งชาติ ที่มีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การจัดงานประกวดพันธุ์แพะ การถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จากนักวิชาการ แกนนำเกษตรกร สถาบันการศึกษา และผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆ ที่มาพบปะกันในงาน การนำสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากแพะมาจัดแสดง และจำหน่ายเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรับรู้ในวงกว้าง และเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะได้มีการพัฒนา ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน การเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป และการจัดการด้านการตลาด ตลอดจนการสร้าง ความเข้มแข็งของกลุ่มและเครือข่ายเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
นายสามารถ ประสิทธิ์ผล ปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้กำหนดให้มีการจัดงานแพะแห่งชาติเป็นประจำทุกปี โดยจัดติดต่อกันมาแล้ว 19 ครั้ง ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 20 โดยกรมปศุสัตว์ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงส่วนราชการ และภาคเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงแพะในพื้นที่ร่วมกันจัดงานแพะแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2567 ขึ้นระหว่างวันที่ 29 - 30 มีนาคม 2567 ซึ่งในปีนี้ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ กิจกรรมการประกวดแพะ ประเภทแกรนด์แชมป์เปี้ยน แพะเนื้อ – แพะนม จำนวน 4 รางวัล
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะทั่วประเทศ ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาการเลี้ยง การจัดการฟาร์ม เพื่อให้แพะมีประสิทธิภาพในการให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในจังหวัดกาญจนบุรีได้รับความรู้ จากการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างเกษตรกร นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงแพะ จากเวทีเสวนาแนวทางการตลาดแพะทั่วประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในจังหวัดกาญจนบุรีได้เชื่อมโยงเครือข่ายการตลาดและการผลิต จากการร่วมกันหาแนวทางในการจัดการระบบการผลิตและการตลาดให้เป็นไปตามแนวทางที่เหมาะสม และเพื่อประชาสัมพันธ์ตลาดการค้าแพะให้กว้างขวางทั้งตลาดในพื้นที่และตลาดต่างประเทศต่อไป