"อธิบดีกรมปศุสัตว์" เผยสถานการณ์โรคคอบวมในโค-กระบือ อยู่ในระดับควบคุมได้ แนะฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดการระบาดของโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม ที่จ.มหาสารคาม และจ.ขอนแก่น ซึ่งส่งผลให้มีโค กระบือ ป่วยตายหลายตัวนั้น เมื่อวันที่ 29 -31 ก.ค. ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ได้มอบหมายให้นายสัตวแพทย์ธนวัฒน์ พันธุ์สนิท ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และเร่งดำเนินการควบคุมโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวมในโค กระบือ
กรมปศุสัตว์ขอสรุปสถานการณ์ ณ วันที่ 31 ก.ค.ดังนี้ พื้นที่พบโรค คือ จังหวัดมหาสารคาม เกิดขึ้นกับเกษตรกร 8 ราย สัตว์ป่วย 40 ตัว สัตว์ตาย 29 ตัว จังหวัดขอนแก่น เกษตรกร 3 ราย สัตว์ป่วย 7 ตัว สัตว์ตาย 3 ตัว จังหวัดอุดรธานี เกษตรกร 1 ราย สัตว์ป่วย 4 ตัว สัตว์ตาย 2 ตัว รวม 3 จังหวัด เกษตรกร 13 สัตว์ป่วย 51 ตัว ตาย 34 ตัว ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการ
การควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยประกาศเขตควบคุมโรคระบาด มีการตั้งด่านกักกัน/จุดสกัด รอบพื้นที่เกิดโรค นอกจากนี้ ยังดำเนินการฉีดวัคซีนรอบพื้นที่เกิดโรค Ring Vaccination ให้กับสัตว์จำนวน 9,676 ตัว และฉีดวัคซีนแบบปูพรมในพื้นที่ข้างเคียง mass vaccination รวม 67,565 ตัว พร้อมทั้งจัดทีมสัตวแพทย์รักษาพยาบาลสัตว์ป่วย ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทุกราย สัตว์ป่วยได้รับการรักษาทุกตัว ทุกวัน ดำเนินการสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรเจ้าของสัตว์ในจุดควบคุมโรค ในระหว่างสัตว์ได้รับการกักกัน และ หรือ ในระหว่างการรักษาพยาบาล มีการประเมินสถานการณ์ Prognosis
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การระบาดของโรค เกิดเป็นจุดเล็กๆ เป็นผลมาจากระบบการเฝ้าระวังโรค surveillance ที่มีประสิทธิภาพ การรับแจ้งโรคที่เร็ว ควบคุมโรคตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนดทันที Rapid response operation สถานการณ์โรคเข้าสู่ภาวะปรกติแล้ว นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดระบบเฝ้าระวังโรคอย่างเคร่งครัด ต่อเนื่อง ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่พบโรคคือ วันที่ 15 ก.ค. 2563 จนถึงระยะเวลาที่สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปรกติ ในระดับที่ควบคุมได้นั้น รวมระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายจากโรคคอบวม กรมปศุสัตว์ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับกระบือ และโคที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป โดยวัคซีนดังกล่าวสามารถคุ้มโรคได้นานถึง 1 ปี รวมทั้งสังเกตอาการโค กระบือ ของตนเอง หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ หรือปศุสัตว์จังหวัด หรือแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ที่ 063-2256888 หรือ แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 โดยทันที เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และขอย้ำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เข้าใจว่าโรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย เป็นโรคที่เกิดในโค กระบือเท่านั้น สัตว์ชนิดอื่นรวมทั้งคนไม่เป็นโรคดังกล่าว
ที่มาของข้อมูล : ทีมโฆษกกรมปศุสัตว์ (1 ส.ค. 2563) ข่าวปศุสัตว์