นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ จึงได้มีคำสั่งให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้ง การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด พร้อมทั้งเร่งรัดการประกาศเขต ทั้ง เขตโรคระบาดชั่วคราวฯ เขตโรคระบาดฯ เขตเฝ้าระวังฯ นอกจากนี้ให้ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบืออย่างเข้มงวด กรณีที่พบโรคระบาด หากสอบสวนแล้วพบว่าเกิดจากการเคลื่อนย้าย ปศุสัตว์จังหวัดต้นทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะเดียวกันให้ทางกรมปศุสัตว์กำชับด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนให้เข้มงวดป้องกันปราบปรามการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้าน และป้องกันปราบปรามการลักลอบเคลื่อนย้ายโค-กระบือ พร้อมกำชับจุดตรวจให้เข้มงวดในการตรวจอาการ เป็นต้น และให้ทางกรมปศุสัตว์รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขและควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง
“ผมมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ดังนั้นจึงกำชับให้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกิน อย่างเข้มแข็ง จริงจังตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ทุกคนขอให้ทำงานโดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลของผู้ใดทั้งสิ้น ตนเองพร้อมปกป้องและให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโตอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของของการระบาดของ โรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ที่พบในพื้นที่เขต 3, 4 และ 7 จนถึงขณะนี้ พบว่า มีแนวโน้มที่โรคจะแพร่กระจายไปในวงกว้าง ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ กรมปศุสัตว์จึงกำหนดการแบ่งพื้นที่ควบคุมโรคออกเป็น 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง จังหวัดที่เกิดโรคและจังหวัดที่อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค และสอง จังหวัดที่อยู่นอกพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค และเพื่อให้มาตรการที่กรมปศุสัตว์สัมฤทธิ์ผล จึงได้มีหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้ช่วยกำกับติดตามดูแลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในแต่ละจังหวัดตามแนวทางของกรมปศุสัตว์
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคนั้น ทางกรมปศุสัตว์ ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและสั่งการเป็นที่เรียบร้อย โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ ควบคุมการเคลื่อนย้าย การจัดการดูแลในส่วนของตลาดนัดค้าสัตว์ พร้อมให้มีการตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตโรคระบาด
“ที่สำคัญอีกประการในเรื่องของการรักษาโค-กระบือที่ป่วยเป็นโรคลัมปี สกินของเกษตรกรในพื้นที่การระบาด ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้เข้าไปรักษาอย่างเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาโดยตรง จึงจำเป็นต้องรักษาตามอาการ และบำรุงร่างกายสัตว์ให้มีสุขภาพดี และรักษาแผลเพื่อป้องกันการแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันแมลงต้อมแผลหรือเข้ามาวางไข่ อีกทั้งเร่งสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรค เช่น การใช้หลอดไฟไล่แมลง และกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด การใช้ยาฆ่าแมลงแบบพ่นและแบบราดบนตัวสัตว์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ขอให้เกษตรกรเข้มงวดเฝ้าระวัง และสังเกตอาการสัตว์ของตนเอง หากพบว่ามีอาการของโรคให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว
**************************************
ข้อมูล/ข่าว : ทีมโฆษกกรมปศุสัตว์ (13 พ.ค 2564) ข่าวปศุสัตว์