ด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน ห่วงใยพี่น้องเกษตรกร กำชับให้กรมปศุสัตว์ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ในโค กระบืออย่างเคร่งครัด พร้อมเร่งหาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเน้นย้ำขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ
เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เป็นประธานการประชุมหารือสถานการณ์ และการควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือ โดยสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดดำเนินการตามมาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานควบคุมโรคท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของเชื้อ Covid-19 และเน้นย้ำการสื่อสารทำความเข้าใจแก่เกษตรกรในเรื่องการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค รวมถึงการใช้วัคซีนภายในฟาร์มเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอาการของโรคที่ดูรุนแรงอาจทำให้เกษตรกรมีความตื่นตระหนก และกังวลใจ จึงต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันพบการรายงานการเกิดโรคแล้ว 35 จังหวัด สัตว์ป่วยจำนวน 6,763 ตัว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ และกรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการควบคุมโรคดังนี้
- ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค กระบือ เป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดเพื่อลดการแพร่กระจายของโรค กรณีมีความจำเป็นให้ปฏิบัติตามตามแนวทางการเคลื่อนย้ายที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด
- เฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว
- ป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค เนื่องจากเป็นโรคที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค จึงขอให้เกษตรกรป้องกันโดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและในพื้นที่เสี่ยง
- รักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เพื่อลดความสูญเสียแก่เกษตรกร เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่มียาที่ใช้ในการรักษาโดยตรง ซึ่งจำเป็นต้องรักษาตามอาการโดยแบ่งการรักษาเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 สัตว์ป่วยแสดงอาการมีไข้ให้ดำเนินการให้ยาลดไข้ ระยะที่ 2 เริ่มแสดงอาการตุ่มบนผิวหนัง ให้ยาลดการอักเสบ ระยะที่ 3 ตุ่มบนผิวหนังมีการแตก หลุดลอก ให้ยารักษาแผลที่ผิวหนังร่วมกับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ระยะที่ 4 แผลที่ผิวหนังตกสะเก็ด ใช้ยารักษาแผลภายนอกจนกว่าจะหายดี
- การใช้วัคซีนควบคุมโรค เนื่องจากโรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงยังไม่เคยมีการใช้วัคซีนในสัตว์สำหรับควบคุมและป้องกันโรคในประเทศมาก่อน ซึ่งการใช้วัคซีนมีความจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวัง และติดตามผลหลังการใช้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการนำเข้าวัคซีนเพื่อใช้ควบคุมโรคในพื้นที่เกิดโรค โดยที่ lot แรกที่จะนำเข้ามาจำนวน 60,000 โด๊ส ซึ่งการนำเข้าวัคซีนจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนที่จะใช้ในสัตว์ และขอเน้นย้ำว่าการใช้วัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้โรคสงบได้ ต้องดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา
อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการตามมาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะด่านกักกันสัตว์ทุกแห่งให้เป็นหลักในการควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะการลักลอบเคลื่อนย้ายจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นการนำโรคเข้ามาเพิ่มในประเทศไทย และการลักลอบเคลื่อนย้ายภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้โรคแพร่กระจาย และขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมโรคเพื่อลดการแพร่กระจาย และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น หากพบสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่านำไปจำหน่าย ให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือและตรวจสอบโดยเร็ว และกรณีท่านยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นหรือมีข้อสงสัยสามารถติดต่อหน่วยงานดังกล่าว หรือติดต่อสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ call center 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” ได้ตลอดเวลา และสามารถติดตามสถานการณ์การระบาดและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรคลัมปี สกิน ได้ที่เว็บไซต์ของสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ หรือที่ https://sites.google.com/view/dldlsd/home
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ข่าวปศุสัตว์