28 กันยายน 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงปัญหาการทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนของโรงเรียนเอกชน 17 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดระยองเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดระยองกับผู้ประกอบเพียง 1 ราย โดยทั่วประเทศมีโรงเรียนทั้งหมด 51,128 โรงเรียน ได้ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 51,111 โรงเรียน คงเหลือโรงเรียนเอกชนจำนวนเพียง 17 แห่ง ในจังหวัดระยองเท่านั้น คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดระยองเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน กลุ่มที่ 2 กำลังดำเนินการประสานผู้เกี่ยวข้องและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เด็กได้ดื่มนมโรงเรียนโดยเร็ว
อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยเพิ่มเติมถึงผลการปฏิรูปการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ดังนี้
- 1. สามารถจัดส่งนมโรงเรียนให้แก่เด็กนักเรียนได้อย่างรวดเร็วกว่าในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะวันแรกของการเปิดภาคเรียน โดยสามารถจัดส่งให้เด็กนักเรียนได้ดื่มครบถ้วนในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น
- 2. พบปัญหานมเสีย/นมขาดคุณภาพ น้อยลงมาก เนื่องจากการจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียน ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2562 มีการแบ่งกลุ่มพื้นที่เป็น 5 กลุ่มพื้นที่ และยึดหลักโลจิสติกส์ในการจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่าย ทำให้ไม่มีการขนส่งนมโรงเรียนข้ามกลุ่มพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่/คณะทำงาน ตรวจสอบ ติดตามและกำกับดูแล ตั้งแต่คุณภาพน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตร คุณภาพน้ำนมที่โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม การขนส่งนม ตลอดจนถึงการเก็บรักษานม ทำให้ลดปัญหานมเสีย/นมขาดคุณภาพ
- 3. มีการประกันภัยผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน เพื่อคุ้มครองเด็กนักเรียนที่ดื่มนม ตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้ระบุให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนทุกราย จะต้องทำประกันภัยความรับผิดชอบจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance) เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภค (เด็กนักเรียน) มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล
- 4. สามารถบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่มีผู้ประกอบการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนร่วมเป็นกรรมการ (ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เพื่อป้องกันปัญหาขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อน
- 5. กระจายอำนาจสู่ส่วนภูมิภาค โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่าย และตรวจสอบ ติดตาม และกำกับดูแลโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน นั้น หน่วยงานในส่วนภูมิภาคซึ่งมีความใกล้ชิดกับพื้นที่ ซึ่งจะมีความเข้าใจในลักษณะเฉพาะของกลุ่มพื้นที่ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้คล่องตัวและเข้ากับกลุ่มพื้นที่ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลโครงการ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จากผลการปฏิรูปชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า โครงการดังกล่าวบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ เด็กนักเรียนได้ดื่มนมโรงเรียนที่มีคุณภาพ, เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถขายน้ำนมดิบได้ และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมได้รับสิทธิ และการจำหน่ายนมโรงเรียนอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามหากท่านใดพบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กรมปศุสัตว์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ยินดีรับและรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาปรับปรุงและพัฒนาโครงการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์แก่เด็กนักเรียนและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอย่างยั่งยืนต่อไป อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในท้ายที่สุด
ข้อมูล/ข่าว : สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ (28 ก.ย. 2564) ข่าวปศุสัตว์