นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวกรณี กรมปศุสัตวละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับส่งเสริมการค้าและการลงทุนและการอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 กรณีสร้างเงื่อนไขให้ผู้นำเข้าส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์ ในเขตปลอดอากรต้องไปขออนุญาต ทำให้เป็นภาระ เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อผู้ประกอบการที่จะต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และเสียเวลาไปกับการตรวจ นั้น
กรมปศุสัตว์ขอชี้แจงว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านสุขภาพสัตว์ ด้านอาหารปลอดภัย การส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในด้านต่างๆ และให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและด้านวิจัยงานวิชาการ ได้คำนึงและเห็นถึงความสำคัญด้านการส่งเสริมและการลงทุนการประกอบกิจการนำเข้าและส่งออกสินค้าปศุสัตว์มาโดยตลอด ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดจากสัตว์หรือซากสัตว์เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์แตกต่างจากพระราชบัญญัติศุลกากรฯ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจในพื้นที่เขตปลอดอากร เป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง โดยแม้จะอยู่ในเขตปลอดอากรแต่เชื้อโรคจากสัตว์หรือซากสัตว์ ก็มีโอกาสและความเสี่ยงในการแพร่กระจายออกไปสู่ภายนอกเขตปลอดอากรได้ ดังนั้น พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ จึงใช้บังคับแก่กรณีการนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อเข้าไปในเขตปลอดอากรด้วย ซึ่งการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งซากสัตว์ในเขตปลอดอากร ผู้ประกอบการต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต กิโลกรัมละ 7 บาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำซากสัตว์ออกนอกราชอาณาจักร กิโลกรัมละ 5 บาท นอกจากนี้ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำผ่านราชอาณาจักรทางอากาศยานซึ่งซากสัตว์ กรณีที่ไม่มีการเปิดตรวจตู้สินค้าหรือแบ่งถ่ายโอนสินค้า และยังอยู่ในเขตปลอดอากรจนกระทั่งมีการเปลี่ยนถ่ายอากาศยาน แล้วขนส่งผ่านออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ในตลาดโลก โดยไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและการผลิตปศุสัตว์ภายในประเทศด้วย โดยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดและความปลอดภัยด้านอาหาร ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศ เนื่องจากประเทศไทย เป็นแหล่งส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังต่างประเทศ และส่งเสริมการค้าและการลงทุนอื่นๆ เช่น การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตนำเข้าซึ่งซากสัตว์ในราชอาณาจักร และส่งออกนอกราชอาณาจักรทางอื่นนอกจากทางอากาศยาน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้วินิจฉัยทั้ง 2 ครั้ง สรุปได้ว่า การปฏิบัติของกรมปศุสัตว์ไม่ถือว่า เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือนอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย และเป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในด้านการส่งเสริมและการลงทุนการประกอบกิจการนำเข้าและส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ที่มีความเห็นว่า การยกเว้นตามมาตรา 152 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในด้านพิธีการศุลกากร ไม่รวมถึงการยกเว้นการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน ดังนั้น “กรมปศุสัตว์จึงถือว่าได้ดำเนินการตามกฎหมายและอำนาจหน้าที่อย่างถูกต้องแล้ว”
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ ปัจจุบัน กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการรวบรวมรวบข้อมูลและหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการเสนอลดค่าธรรมเนียมดังกล่าว เพื่อความโปร่งใสสามาารถตรวจสอบได้ โดยจะหารือในทุกมิติคำนึงถึงผลกระทบในทุกด้านและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ อำนวยความสะดวกทางการค้าและบริการโดยเฉพาะด้านการปศุสัตว์ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาต ซึ่งในการดำเนินการ กรมปศุสัตว์ต้องมีการรวบรวมข้อเท็จจริงจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมครบถ้วน ให้สอดคล้องนโยบายด้านการส่งเสริมและการลงทุน อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ข้อมูล : กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ข่าวปศุสัตว์