นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงมาตรการควบคุม ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องว่า กรมปศุสัตว์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งประกอบไปด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุกรทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยมีหน้าที่หลัก ได้แก่ การกำหนดแนวทางการวิจัยสำหรับการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จัดหาแหล่งเงินทุนงานวิจัย พร้อมทั้งส่งเสริมและขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนางานวิจัยสำหรับการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายแรกของคณะกรรมการชุดนี้ที่จะดำเนินการ คือ การผลักดันการวิจัยโดยเฉพาะการเร่งวิจัยวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการซึ่งจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ Animal BSL3 เพื่อใช้สำหรับทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนที่ผลิตขึ้น และจากนั้นจะเป็นขั้นตอนในการพัฒนาวัคซีนให้สามารถนำมาใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมการผลิตสุกรในอนาคตทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่าในวงเงินงบประมาณ 1,779,831,862.48 บาท ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของกรมปศุสัตว์สำหรับในการดำเนินการควบคุม ป้องกันโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกรทุกมิติให้มีประสิทธิภาพ เป็นการรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตสุกรและอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 150,000,000,000 บาท อีกทั้งป้องกันการขาดแคลนเนื้อสุกรเพื่อการบริโภค อันเป็นการรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงรอยต่อของฤดูฝนและฤดูหนาว สภาพอากาศหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศมีความหนาวเย็น แต่ในขณะเดียวกันหลายพื้นที่กลับประสบสภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้สุกรเกิดความเครียดระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับหากเป็นฟาร์มของเกษตรรายย่อยซึ่งระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในการเลี้ยงสุกร (Biosecurity) ยังไม่ได้มาตรฐานจะทำให้สุกรที่เลี้ยงมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นที่จะเกิดการติดเชื้อขึ้นในฟาร์ม โดยเฉพาะที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่นและมีประวัติการระบาดของโรคมาก่อน กรมปศุสัตว์จึงขอแนะนำให้เกษตรกรปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสุกรให้มีประสิทธิภาพ เช่น ควรทำการกักแยกสุกรที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่เพื่อสังเกตอาการก่อนปล่อยเข้าร่วมฝูง ทำความสะอาดฟาร์มด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพ เข้มงวดการทำลายเชื้อโรคในน้ำที่ใช้ในฟาร์มก่อนนำไปใช้เลี้ยงสุกร ยานพาหนะที่เข้า - ออกฟาร์มจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง ไม่นำสุกรที่ไม่ทราบประวัติเข้าสู่ฟาร์มโดยเฉพาะจากพื้นที่ที่เคยมีการระบาดโรคต่างๆมาก่อน เป็นต้น รวมทั้ง ขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรเพิ่มเติมในการเป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคระบาดในสุกรเพื่อสามารถควบคุมการระบาดของโรคให้อยู่ในวงจำกัด และขอให้ติดตามข่าวสารการแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิดจากกรมปศุสัตว์ หากพบสุกรที่สงสัยว่าป่วยหรือตายด้วยโรคระบาด หรือด้วยอาการผิดปกติไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ทันที หรือผ่านทางแอพพลิเคชั่นมือถือ “DLD 4.0” หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ หมายเลขโทรศัพท์ 063-225-6888 เพื่อเข้าทำการตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการบริโภคเนื้อสุกรขอให้เลือกซื้อเนื้อสุกรที่มาจากแหล่งผลิตและผู้จำหน่ายที่ได้รับสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” และต้องนำมาปรุงสุกทุกครั้งก่อนการบริโภคเพื่อสุขอนามัยที่ดีและขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยจากการบริโภคเนื้อสุกร ไม่ต้องตื่นตระหนกกับข่าวสารที่มีข้อมูลไม่แน่ชัด หากพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หรือประชาชนทั่วไปต้องการทราบความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับภาคปศุสัตว์หรือข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สามารถติดตามผ่าน Mobile Application “DLD 4.0” ได้ตลอดเวลา อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในท้ายที่สุด
…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………
ข้อมูล : กลุ่มควบคุมป้องกันโรคสุกร สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ข่าวปศุสัตว์