นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีรายงานข่าวล่าสุดกรณีมีผู้ป่วยอาการสาหัส 1ราย และเสียชีวิต 1 รายด้วยโรคหูดับในพื้นที่จังหวัดน่าน เนื่องจากกินลาบหมูดิบจากการเลี้ยงเจ้าที่ในหมู่บ้านเดียวกัน โดยโรคนี้เกิดได้ตลอดทั้งปีแต่มักจะมีการระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่หมูมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดของหมูทำให้หมูตาย ถ้ามีผู้นำเนื้อหมูหรือเลือดหมูมารับประทานแบบไม่ผ่านความร้อนจะทำให้ติดเชื้อได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้แจ้งเตือนประชาชนมาโดยตลอด แนะให้ปรุงเนื้อหมูโดยผ่านความร้อนให้สุกก่อนนำมารับประทานทุกครั้ง งดรับประทานเนื้อหมูที่สุกๆ ดิบๆ และให้เลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้นั้น
กรมปศุสัตว์ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ให้มีความปลอดภัยด้านอาหาร ขอเรียนให้ทราบว่า โรคหูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย STREPTOCOCCUS SUIS ซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในระบบทางเดินหายใจของสุกร เช่น ช่องจมูก และต่อมทอนซิล โดยปกติสุกรที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการป่วย แต่หากมีภาวะเครียดอาจเนื่องมาจากความแออัด ความสกปรก หรืออากาศไม่เหมาะสม จะทําให้เชื้อสามารถเพิ่มจํานวน และแพร่จากต่อมทอนซิลไปยังต่อมน้ำเหลือง และติดเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตไปยังสมอง และทําให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สุกรที่ป่วยจะแสดงอาการไข้หนาวสั่น ชักเกร็ง มีผื่นแดงที่ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลืองโต ตาบอด หูหนวก ข้ออักเสบแบบรุนแรง ปอดและหลอดลมอักเสบ และอาจจะแสดงอาการชักจากการเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อ STREPTOCOCCUS SUIS สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านทางบาดแผล หรือการบริโภคเนื้อ เครื่องใน หรือเลือดสุกรที่มีเชื้อโรคหูดับที่ไม่สุกเข้าไปในร่างกาย อาการที่มักพบในผู้ป่วย คือ การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้คอแข็ง ซึ่งอาจทําให้สูญเสียการได้ยิน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรคหูดับ และอาจจะพบอาการอื่นๆ ได้แก่ ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นเหียน มีไข้สูง หนาวสั่น ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ และอาจทําให้ช๊อคจนถึงเสียชีวิตได้ในกรณีที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดและทำให้ความดันโลหิตลดลง
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเน้นย้ำเตือนให้ผู้บริโภค หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสุกรแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ โดยแนะนำให้ผ่านความร้อนปรุงสุกทุกครั้งก่อนนำมารับประทานอาหาร ควรแยกอุปกรณ์ประกอบอาหารระหว่างเนื้อดิบและอาหารสุก สวมถุงมือหรือล้างมือทุกครั้งเมื่อสัมผัสเนื้อสุกร รวมถึงควรเลือกซื้อเนื้อสุกรจากสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้ เช่น การสังเกตสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK ทั้ง ในตลาดสดและห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งกรม ปศุสัตว์ได้รับรอง เนื่องจากมีการควบคุมตรวจสอบกระบวนการผลิตสุกรตลอดห่วงโซ่ที่กำกับโดยกรมปศุสัตว์ ภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรหรือ GAP การฆ่าสัตว์ในโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย สถานที่จำหน่ายถูกสุขลักษณะ โดยสามารถทำการตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดทุกขั้นตอนการผลิต
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร. 3132, 3155 หรือ http://certify.dld.go.th | ข่าวปศุสัตว์