นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์ ว่ามีขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็งเข้ามาในประเทศไทย โดยสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าชนิดอื่น มีการจัดจำหน่ายทั้งแบบบรรจุภัณฑ์ที่ลักลอบมาจากต่างประเทศ และกระจายสินค้าเพื่อจำหน่ายปะปนกับเนื้อสุกรไทย ถือเป็นการบ่อนทำลายภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของประเทศ ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และดำเนินการจับกุมเอาผิดผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ทั้งความผิดทางศุลกากร และผิดกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ โดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องโรคสุกรที่อาจติดมากับผลิตภัณฑ์ที่ไม่รู้แหล่งที่มา ซึ่งไม่มีใบขออนุญาตนำเข้าซากสัตว์ และไม่ผ่านการกักตรวจโรคก่อนนำเข้ามาในราชอาณาจักรนั้น
กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มีจุดประสงค์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่อาจติดมากับสัตว์หรือซากสัตว์ โดยปฏิบัติภายใต้มาตรา 31 มาตรา 32 และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้ผู้นำเข้าราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ หรือซากสัตว์ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์มอบหมายทุกครั้ง กำหนดวิธีการขออนุญาตและออกใบอนุญาต กำหนดให้ต้องนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้า ออก หรือผ่านที่ท่าเข้า-ท่าออกซี่งมีทั้งหมด 46 แห่ง กำหนดให้ต้องทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์สำหรับซากสัตว์สัตว์ในขั้นตอนการนำเข้า และมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ ซึ่งหากประเทศต้นทางมีโรคระบาดหรือสงสัยว่ามีโรคระบาด อธิบดีกรมปศุสัตว์จะประกาศชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านจากประเทศนั้น และมีคำสั่งมอบหมายให้ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน และหัวหน้าด่านกักกันสัตว์ท่าเข้า-ท่าออก พิจารณาอนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) ดังนี้
- จัดทำโครงการเข้าตรวจสอบสถานที่พักซากสัตว์ทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เป็นต้นมาเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจสอบซากสัตว์ที่ถูกนำมาซุกซ่อนไว้ตามห้องเย็นต่างๆ และดำเนินคดีกับผู้ลักลอบนำเข้าซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยปีนี้จะดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ
- ทำหนังสือขอความร่วมมือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามหนังสือกรมปศุสัตว์ ที่ กษ 0621/6828-6830 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 เพื่อร่วมมือในการป้องกันการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
- กำหนดให้มีการทำเครื่องหมายประจำตัวสำหรับซากสัตว์ที่นำเข้า เพื่อใช้ตรวจสอบซากสัตว์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าดังกล่าวได้ จึงทำให้แยกแยะกับซากสัตว์ที่ลักลอบนำเข้าได้ ง่ายต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
- จัดตั้งชุดปฏิบัติงานสุนัขดมกลิ่นตรวจสอบการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ในพื้นที่สนามบินทุกแห่ง เพื่อตรวจสอบผู้โดยสารที่นำซากสัตว์เข้าราชอาณาจักรอย่างผิดกฎหมาย
- จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายในความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ ตามคำสั่งกรมปศุสัตว์ที่ 918/2559 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 โดยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) จากต่างประเทศได้ทั่วราชอาณาจักร
- มีทางแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 เป็นช่องทางสำหรับการแจ้งข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียน โดยผู้ที่มีข้อมูลการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) จากต่างประเทศโดยเฉพาะเนื้อสุกร สามารถแจ้งข้อมูลเบาะแสมายังกรมปศุสัตว์ทางแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เพื่อดำเนินการต่อไป
จากผลการปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมาย 3 ปีย้อนหลัง (ปีงบฯ 2562-2564) มีการจับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบนำซากสัตว์เข้าในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต 97 คดี ยึดซากสัตว์ของกลางจำนวน 336,085 กิโลกรัม มีการตรวจยึดซากสัตว์ตามพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนและบริเวณท่าอากาศยาน 5,188 ครั้ง ยึดซากสัตว์ของกลางจำนวน 214,812 กิโลกรัม และมีการตรวจยึดซากสัตว์ลักลอบนำเข้าโดยสำแดงเท็จเป็นสินค้าชนิดอื่น 65 ครั้ง ยึดซากสัตว์ของกลางจำนวน 295,638 กิโลกรัม โดยกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการทำลายซากสัตว์ของกลางที่ยึดได้ทั้งหมดเป็นจำนวน 846,535 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 200,000,000 บาท
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ จึงสั่งการให้กองสารวัตรและกักกันดำเนินการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ทำการซักซ้อม ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติงานสำหรับการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ ทำการเผยแพร่สร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้นำเข้าสินค้าปศุสัตว์ (ซากสัตว์) จากต่างประเทศ และตรวจติดตามการปฏิบัติงานนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์อยู่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการแจ้งเบาะแส หรือต้องการความช่วยเหลือจากกรมปศุสัตว์ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 หรือ Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
ที่มา : กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ข่าวปศุสัตว์