นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายและให้ความสำคัญด้านยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้มงวดในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐานทั้งสำหรับการบริโภคภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศนั้น กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ให้ความสำคัญและดำเนินการยกระดับคุณภาพมาตรฐานกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังมาถึงนี้ ประชาชนจะออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น ประกอบกับได้มีรายงานทางสื่อออนไลน์เกี่ยวกับไส้กรอกที่ไม่มีแหล่งที่มาแน่ชัดกำลังระบาด ไส้กรอกไม่มียี่ห้อซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคเนื่องจากมีสารตกค้างพวกไนไตรท์และไนเตรทเกินปริมาณที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เมื่อบริโภคเข้าไปทำให้ป่วยมีอาการเมทฮีโมโกลบิน มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งตรวจสอบหาสาเหตุแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค จึงได้สั่งการไปยังปศุสัตว์เขตและจังหวัดทั่วประเทศให้เข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าปศุสัตว์ ให้มีความปลอดภัยอาหาร รักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์
กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอาหารปลอดภัยในการผลิตสินค้าปศุสัตว์และรับรองสถานประกอบการเพื่อการส่งออก ได้กำกับดูแลระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดทั้งกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี GAP (Good Agricultural Practices) โรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมาย โรงงานแปรรูปได้มาตรฐาน มีกระบวนการผลิตที่ถูกสุขอนามัย สินค้าที่ได้มีคุณภาพมาตรฐานปลอดภัย จึงมั่นใจได้ว่าสินค้าปศุสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ มีการตรวจสอบและกำกับดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต ไม่มีสารอันตรายตกค้าง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน โดยสินค้าผลิตภายใต้กระบวนการที่ถูกสุขอนามัยสอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากล การปฏิบัติสุขลักษณะที่ดี (GHPs: Good Hygiene Practices) ตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้า และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม (HACCP: Hazard Analysis and Critical Control Point) มีเจ้าหน้าที่ตรวจโรคสัตว์ก่อนเข้าโรงฆ่าสัตว์และหลังออกจากโรงฆ่าสัตว์ มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบกำกับควบคุมกระบวนการผลิตที่โรงงานแปรรูป มีการสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ทั้งด้านสารตกค้าง และเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานเพื่อการส่งออกที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว 371 แห่ง เป็นโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์จำนวน 108 แห่ง โรงงานเหล่านี้นอกจากผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกแล้ว ยังผลิตสินค้าขายในประเทศด้วย โดยใช้หลักคุณภาพและมาตรฐานในกระบวนการผลิตแบบเดียวกันในการผลิตสินค้าทั้งการส่งออกและขายในประเทศ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าปศุสัตว์ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองนั้น มีคุณภาพมาตรฐานการผลิตที่ถูกสุขอนามัย มีความปลอดภัยอาหาร ปลอดจากสารตกค้าง และที่สำคัญมีแหล่งที่มาชัดเจน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต
ข้อมูล/ข่าว : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ https://certify.dld.go.th