นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์การเกิดกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness) ในปี 2563 ประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 การระบาดของโรคมีพื้นที่ทั้งหมด 17 จังหวัด มีจำนวนสัตว์ป่วยสะสม 610 ตัว และตายสะสม 568 ตัว กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพจนทำให้พบโรคครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีรายงานพบกาฬโรคแอฟริกาในม้ามากกว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งขณะนี้เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 3 ระยะขอคืนสถานภาพปลอดโรคตามแผนปฏิบัติการกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าเพื่อคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกของประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ได้สถานภาพปลอดโรคภายในปี พ.ศ. 2566
จากสถานการณ์ของโรคที่ดีขึ้นมาก กรมปศุสัตว์ กรมการสัตว์ทหารบก องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และทุกหน่วยงานภาคีภายใต้บันทึกความร่วมมือ (MOU) การกำจัดกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ได้เตรียมพร้อมด้านข้อมูลสำหรับขอรับรองการปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก ประกอบกับได้เชิญ Dr.Ann-Susanne Munstermann ที่ปรึกษาจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกมาเยือนประเทศไทยเพื่อให้คำแนะนำการเขียนแฟ้มประวัติหรือแฟ้มข้อมูล (Dossier) เพื่อขอรับรองการปลอดโรค ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยมีความพร้อมสูงมากที่จะยื่นขอคืนสถานภาพปลอดโรคได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษาจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติโดยมีประชุมหารือร่วมกับคณะทำงานด้านไวรัสวิทยา คณะทำงานด้านการเฝ้าระวังโรคในแมลงพาหะ และคณะทำงานเขียนแฟ้มข้อมูล (Dossier) นอกจากนี้ ยังมีกำหนดการเดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีและชลบุรีเพื่อติดตามการดำเนินกิจกรรมการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มสัตว์เฉพาะ (sentinel surveillance) ของสวนสัตว์อีกด้วย
นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างเร่งรัดเพื่อทำให้ประเทศไทยกลับสู่สถานภาพปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งการปลอดโรคดังกล่าว จะทำให้สามารถเคลื่อนย้ายม้าระหว่างประเทศได้ตามปรกติ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการค้าและการส่งออกม้าเพิ่มรายได้ต่ออุตสาหกรรมการส่งออกม้า ส่งเสริมกิจกรรมการแข่งขันม้าในประเทศทุกประเภททั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สร้างอาชีพและรายได้ให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน อาทิ เกษตรกรผู้เลี้ยงม้า ผู้ประกอบการ สมาคม ชมรม แรงงาน ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและเศรฐกิจโดยรวมต่อไป
*********************************
ข้อมูล/ข่าว : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ ข่าวปศุสัตว์