สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 15
วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม 2566 เวลา 17.15น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี แทนพระองค์ ทรงปล่อยชีวิตโค-กระบือ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๑ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ โค จำนวน 1 คู่ และ กระบือ จำนวน 1 คู่ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชทรัพย์ไถ่ชีวิต และจะนำโค-กระบือดังกล่าว นำไปช่วยเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต่อไป
โดยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้นายพงษ์พันธ์ ธรรมมา รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายธีรวิทย์ ขาวบุบผา ผู้อำนวยการกองงานพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ นายวรากร จิตรหลัง ปศุสัตว์จังหวัดกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงาน“สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 15 “91พรรษา สืบสานสายธารแห่งน้ำพระทัย สร้างวิถีเกษตรสมัยใหม่ สู่อาหารปลอดภัย สร้างรายได้ ความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน" ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จตุจักร กรุงเทพ
กรมปศุสัตว์ถวายรายงาน และเชิญทอดพระเนตรนิทรรศการ เรื่อง “พันธุ์สัตว์พระราชทาน น้ำพระทัยจากพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สู่พสกนิกร” ที่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้น้อมเกล้าถวาย ฯ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่
1.สุกรพันธุ์จินหัว นำเข้าประเทศไทยเมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม 2542 จำนวน 2 คู่ เพศผู้ 2 ตัว และเพศเมีย 2 ตัว นำไปเลี้ยง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาสุกร ตำบลขนงพระ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบัน มีจำนวน 18 ตัว พ่อพันธุ์ 11 ตัว แม่พันธุ์ 5 ตัว ลูกอายุ 3 เดือน จำนวน 3 ตัว
2. เป็ดอี้เหลียง ถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2543 เป็นลูกเป็ดอายุ 1 วัน จำนวน 65 ตัว เพศผู้ 15 ตัว เพศเมีย 50 ตัว โดยนำไปเลี้ยงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์ปีก อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบันมีเลี้ยงที่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์ - เกษตรมูโนะ ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ระยอง ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง จำนวน 450 ตัว พ่อพันธุ์ 43 ตัว แม่พันธุ์ 71 ตัว ลูกเป็ดคละเพศ 336 ตัว
3. ห่านหัวสิงโต ถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 เป็นไข่จำนวน 100 ฟอง นำไปที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อฟักและเลี้ยงดู ฟักออกเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2551 ได้ลูกห่าน จำนวน 31 ตัว เป็นเพศผู้ 17 ตัว เพศเมีย 14 ตัว ปัจจุบัน มีเลี้ยงที่ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 83 ตัว พ่อพันธุ์ 39 ตัว แม่พันธุ์ 44 ตัว
พันธุ์สัตว์พระราชทาน ทั้ง 3 ชนิด กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเลี้ยงดู เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต รูปแบบการเลี้ยง เก็บรักษาสายพันธุ์และขยายพันธุ์ส่งมอบให้โครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริ ช่วยสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ เกิดแนวอาชีพ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของฟาร์มตัวอย่าง สร้างรายได้สู่โครงการฟาร์มตัวอย่าง ฯ เพื่อหมุนเวียนดำเนินกิจกรรมฟาร์มตัวอย่าง ฯ ในระยะต่อไป กรมปศุสัตว์ มีแนวทางการใช้ประโยชน์พันธุ์สัตว์พระราชทานทั้ง 3 ชนิด ในด้านขยายพันธุ์เพื่อเก็บรักษาพันธุ์ สร้างอาชีพและรายได้ให้เกษตรกรในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ /.
ภาพ/ข่าว : ศักดิ์สิทธิ์ จริยาเลิศศักดิ์ นักวิชาการเผยแพร่ปฏิบัติการ กลุ่มเผยแพร่ฯ สำนักงานเลขานุการกรม