วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2561 เวลา 16.00 น. นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์) และรองอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ศาสตราจารย์ ดร.แพทย์หญิงจิรายุ เอื้อวรากุล) กับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ (นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต) ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ และความเข้าใจทางด้านวิชาการด้านสัตวแพทย์ให้เกิดผลประโยชน์ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการสัตวแพทย์ อาทิ การฝึกอบรม การฝึกงาน เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะความรู้ด้านสัตวแพทยศาสตร์ โดยครอบคลุมถึงสัตว์บก สัตว์ปีก และสัตว์น้ำด้วย นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการผลิตนักศึกษาหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อีกทั้งการบริหารทรัพยากรร่วมกันในพื้นที่เป้าหมายที่กรมปศุสัตว์กำหนด เพื่อสนับสนุนการจัดสร้างโรงพยาบาลสัตว์ใหญ่ และการผลิตชีวภัณฑ์ โดยอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้มีการลงพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อดูสถานที่และความพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน
ทั้งนี้ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ มีขีดความสามารถสูงในงานวิจัยเชิงวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ ทำการวิจัย และสนับสนุนให้ทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ในเรื่องดังกล่าว และให้บริการในการบำบัดรักษาผู้ป่วย
ด้าน นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว นอกจากจะส่งผลดีต่อการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์และประมงของไทย ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมของสินค้าปศุสัตว์และสินค้าประมงส่งออก ประมาณ 3.6 แสนล้านบาทและยังเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาปศุสัตว์ให้มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และศักยภาพที่พร้อมกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนพัฒนาระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ทั้งห่วงโซ่การผลิตให้มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปศุสัตว์ในทุกมิติ ทั้งด้านวิชาการ ด้านฐานข้อมูล ด้านการผลิต และด้านการตลาด
ข้อมูล/ข่าว : กองเกษตรสารนิเทศ