วันนี้ (6 ธ.ค. 62) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา โดยมี นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 15 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 16 และนายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและบรรยายสรุปความก้าวหน้าของโครงการฯ ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก่อนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมบริเวณก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน คลองภูมินารถดำริ (คลองระบายน้ำ ร.1)
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่เป็นอย่างมาก จากการลงพื้นที่ติดตามงานก่อสร้างปรับปรุงคลองระบายน้ำ ร.1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในวันนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่ตรวจเยี่ยม มีความคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 68 เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งวางแผนและเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในช่วงมรสุมเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งคาดว่าหากเกิดฝนตกหนักเหมือนปี 2553 ก็สามารถรับมือได้ จึงขอให้ชาวหาดใหญ่มั่นใจได้
รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า อ.หาดใหญ่ ถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งในปี 2531, 2534 และ ปี 2553 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้มีมูลค่าความเสียหาย กว่า 10,000 ล้านบาท เสียหายมากกว่าพื้นที่การเกษตรโดยทั่วไป ดังนั้นได้กำชับให้สำนักชลประทานทุกแห่งทั่วประเทศเตรียมความพร้อมวางแผนล่วงหน้า เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากขาดสิ่งใดให้แจ้งมาที่กรมชลประทาน อย่างไรก็ตามนอกจากการป้องกันอุทกภัยแล้ว จะต้องหามาตรการบริหารจัดการน้ำให้มีเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เน้นย้ำว่าต้องให้เกิดความเดือดร้อนน้อยที่สุด นอกจากนี้ในเรื่องของงบประมาณการดำเนินงานก่อสร้างต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ด้าน นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) เป็นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 จากเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม./วินาที เพิ่มเป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่ระบายผ่านคลองอู่ตะเภาในอัตรา 465 ลบ.ม./วินาที ทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำได้สูงสุดรวมกันประมาณ 1,665 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันแม้ว่าคลองระบายน้ำ ร.1 จะยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่องค์ประกอบหลักเช่น ประตูระบายน้ำหน้าควน 2 ซึ่งเป็นจุดที่จะแบ่งน้ำมาจากคลองอู่ตะเภา ได้ดำเนินการก่อสร้างและติดตั้งบานระบายน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถบริหารจัดการน้ำโดยการเปิดปิดบาน เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่คลองระบายน้ำ ร.1 และคลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งได้ทำการปรับปรุงโดยการขุดขยายความกว้างของคลองระบายน้ำจากเดิมท้องคลองกว้าง 24 เมตร ขยายเป็น 70 เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างกำแพงคอนกรีต แล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 80 ทำให้คลองระบายน้ำ ร.1 ในปัจจุบันจะสามารถช่วยในการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้สูงสุดประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที โดยภาพรวมมีความคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 68
“หากโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) แล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศได้เป็นอย่างมาก” นายประพิศ กล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ปัจจุบันลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา จังหวัดสงขลา ที่สถานีวัดน้ำท่า X.173 A บ้านม่วงก็อง อำเภอสะเดา ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 6.17 เมตร ที่สถานีวัดน้ำ X.90 บ้านบางศาลา อำเภอคลองหอยโข่ง ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 6.56 เมตร ส่วนที่ประตูระบายน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 19.34 ลบ.ม. ต่อวินาที ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 6.1 เมตร และที่สถานีวัดน้ำ X.44 อำเภอหาดใหญ่ มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 29.8 ลบ.ม. ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.72 เมตร แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสำนักชลประทานที่ 16 รายงานปริมาณฝนสะสมจังหวัดสงขลา อยู่ที่ 1,402.2 มม. คิดเป็น 71.5% ต่ำกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยสะสม 28.5% ปริมาณอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจังหวัดสงขลา จำนวน 3 แห่ง ปริมาณน้ำเก็บกัก 84.161 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 51.554 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61.26% และสภาพน้ำท่าในลุ่มน้ำอู่ตะเภาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตลอดจนมีการวางแผนเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุและป้องกันอุทกภัยในพื้นที่เฝ้าระวัง ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา จ.ตรัง จ.พัทลุง และ จ.สตูล มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำไว้ให้เพียงพอ
ที่มาของข้อมูล : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์