วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 เวลา 11.30 น. นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมวันอนุรักษ์ควายไทย ประจำปี 2565 เพื่อร่วมรณรงค์ให้ความรู้ และเป็นการระลึกถึง “วันอนุรักษ์ควายไทย” พร้อมกล่าวให้โอวาทและชี้แจงโครงการสานฝันสร้างอาชีพและยกระดับรายได้เกษตรกร และโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ พืช ประมง และกิจการที่เกี่ยวเนื่องตามนโยบายรัฐบาล จังหวัดกาญจนบุรี และมอบสัญญายืมกระบือโครงการธนาคารโค - กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริให้ตัวแทนเกษตรกรอำเภอเลาขวัญ จำนวน 30 ราย โดยมีนายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวรายงาน นายวีระ หิรัญกุล ปลัดอาวุโสอำเภอเลาขวัญ กล่าวต้อนรับ และนายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ เข้าร่วมงาน นายสามารถ ประสิทธิ์ผล ปศุสัตว์จังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ วัดเขากาญจนาเขต ตำบลเลาขวัญ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “ควาย” เป็นสัตว์ที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการกสิกรรมมาเป็นเวลานาน ในอดีตควายใช้ในการไถนาให้ชาวนาที่มีแปลงปลูกข้าว ในพื้นที่มีไม่มากนัก ควายไทยจะเป็นควายที่อยู่ในตระกูลของควายปลัก ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตอนใต้ ที่เรียกว่า “ควายปลัก” เพราะชอบนอนในปลักที่มีโคลน การนอนในปลักเป็นส่วนหนึ่งของการระบายความร้อนในสัตว์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของกระบือปลักในประเทศไทยน่าเป็นห่วง เนื่องมาจากจำนวนของกระบือปลักได้ลดลงอย่างมาก มีกระบือปลักลดลงจาก 6.4 ล้านตัวในปี พ.ศ. 2525 ลงเหลือเพียง 1.3 ล้านตัว ในปี พ.ศ.2551 สาเหตุหนึ่งที่จำนวนลดลงเนื่องมาจากการทำการเกษตรในปัจจุบันเปลี่ยนไป เกษตรกรใช้รถไถนาที่เป็นเครื่องจักรเพิ่มมากขึ้น เพราะควายเหล็กทำงานเสร็จเร็วกว่าและสะดวกกว่า ดังนั้นความสำคัญของกระบือจึงลดลง โดยแต่ละครอบครัวอาจจะยังเลี้ยงกระบือ จำนวน 1 – 2 ตัว โดยมิได้คำนึงถึงการขยายพันธุ์ให้ได้กระบือที่ตัวใหญ่สวยงามดังเช่นในอดีต นอกจากนี้ลูกหลานของเกษตรกรก็มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยอาจมิได้เป็นเกษตรกรหรือชาวนาที่ปลูกข้าว แต่มุ่งทำงานในอาชีพอื่นและละเลยความสำคัญของการทำการเกษตรโดยใช้กระบือเป็นแรงงาน เห็นอย่างนี้แล้วคงต้องมาช่วยกันดูแลควายไทยของเรา ก่อนที่จะสูญพันธุ์ไป ให้ได้อยู่ดีกินดี ควายมีความสุข ผู้เลี้ยงมีความสุข และให้ลูกหลานได้เรียนรู้เกี่ยวกับเจ้าทุย ด้วยการเห็นตัวเป็นๆ มากกว่าแค่รูปถ่ายวันอนุรักษ์ควายไทย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และดูแลควายไทย และส่งเสริมการเลี้ยงควายให้อยู่คู่คนไทยไปอีกแสนนาน
ด้าน นายชำนาญ ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ได้มีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันอนุรักษ์ ควายไทย" ซึ่งตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นครั้งแรก และเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์การเลี้ยงควายไทย กรมปศุสัตว์จึงได้ขอความร่วมมือให้ปศุสัตว์จังหวัดจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ หรือจัดเจ้าหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้ หรือจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการระลึกถึง “วันอนุรักษ์ควายไทย” ตามความเหมาะสม ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565
จังหวัดกาญจนบุรีจึงได้ร่วมกันจัดงาน “วันอนุรักษ์ควายไทย” ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์การเลี้ยงควายไทย เนื่องจากควายหรือภาษาทางการเรียกว่า “กระบือ” ที่รู้จักกันนี้ น้อยคนแล้วที่จะได้เคยเห็นตัวจริง ควายไทยถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างช้านาน คนไทยเทียมควายไถนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีความอดทน ทนแดด ทนร้อน ทนสภาพอากาศแห้งแล้งได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือไถนาชั้นดี ก่อนที่จะมีรถไถเกิดขึ้นมา การเดินทางในสมัยก่อนก็ยังใช้ควายเทียมเกวียน เพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วย แต่ปัจจุบันควายไทยถูกลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น นอกจากนี้ทางจังหวัดกาญจนบุรียังให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรเครือข่ายผู้เลี้ยงควายของจังหวัดกาญจนบุรี ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการเลี้ยงควาย สู่อาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน จึงได้สานต่อนโยบายกรมปศุสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับ "วันอนุรักษ์ควายไทย" ในการสร้างการรับรู้คุณค่าควายไทยว่า “มีประโยชน์แก่เกษตรกรและประชาชนคนไทย”
ภาพ กิตติพรรณ จินดามัง / ข่าว จิราภรณ์ เกตุบูรณะ / กลุ่มเผยแพร่ฯ / สลก.