S 1360473

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 9.30 น.      นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 โดยมีนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน พร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน

วัตถุประสงค์ของการประชุม

เพื่อติดตามสถานการณ์ ผลการดำเนินงานและมาตรการในด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่ง ณ ปัจจุบัน 18 กุมภาพันธ์ 2563 สถานการณ์ในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 35 ราย มีอาการรุนแรง 2 ราย แต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต เชื่อว่าเชื้อนี้อาจเกิดจากค้างคาวติดต่อมายังตัวนิ่มและตัวนิ่มติดมายังคน โดยพบว่าเชื้อไวรัสนี้มีลักษณะทางพันธุกรรม ที่คล้ายคลึงกับเชื้อโคโรนาไวรัสที่พบในค้างคาวมากถึงร้อยละ 96 อย่างไรก็ตาม มีรายงานของนักวิจัยจากประเทศจีนเพิ่มเติมว่าเชื้อนี้อาจติดไปยังตัวนิ่ม (Pangolin) ก่อนที่จะติดต่อมายังคน โดยพบว่ายีนของเชื้อที่พบในตัวนิ่มและในผู้ป่วยมีความเหมือนกันถึง 99% อย่างไรก็ตามรายงานนี้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ

เป้าหมายการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ของประเทศไทย มี 3 ข้อ ดังนี้

  1. ลดโอกาสการแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทย (มาตรการสำคัญ คือ เพิ่มสมรรถนะการคัดกรองและตรวจจับผู้ติดเชื้อ)
  2. ดูแลทุกคนในประเทศไทย และคนไทยในต่างประเทศให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (มาตรการสำคัญ คือ เพิ่มการเฝ้าระวังและลดการแพร่เชื้อในชุมชน และเพิ่มความพร้อมในการรักษาพยาบาล) และ
  3. ลดผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และเพิ่มความมั่นคงของประเทศ (มาตรการสำคัญ คือ สร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและภาพลักษณ์ของประเทศ ส่งเสริมความมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการลดผลกระทบ และเตรียมความพร้อมในทุกระดับ เพื่อรับมือกับภัยจากโรคระบาด)

S__1360473.jpg S__1360475.jpg S__1360476.jpg

S__1360477.jpg

กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง ดังนี้

  1. การเฝ้าระวังโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ ในสุกรในพื้นที่เสี่ยงสูง ตั้งแต่ ปี 2541 โดยเก็บตัวอย่างสุกรจำนวนประมาณ 3,600 ตัวอย่าง/ปี เพื่อตรวจระดับภูมิภูมิคุ้มกัน โดยวิธี Modified ELISA ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่พบหลักฐานการติดเชื้อในสุกร
  2. การเฝ้าระวังโรคที่เคยมีการรายงานพบในค้างคาว ได้แก่ เมอร์ ซาร์ และอื่นๆ ในสุกร สุนัข แมว และโค ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ผลการตรวจไม่พบเชื้อโรคที่มาจากค้างคาว (พบไวรัสชนิดเดิมที่อยู่ในสัตว์นั้นอยู่แล้ว)
  3. การศึกษาทางระบาดวิทยาโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะ เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค
  4. การพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนมือถือ “อีสมาร์ทพลัส” เพื่อประเมินความเสี่ยงฟาร์มต่อโรคที่สำคัญในปศุสัตว์ รวมถึงโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะ เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงฟาร์ม

สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะอื่นๆ

  1. เตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
  2. เฝ้าระวังโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะในปศุสัตว์ อย่างต่อเนื่อง โดยวางแผนร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
  3. ให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะ และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรให้มีการปรับปรุงฟาร์ม กรณีที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคที่มีค้างคาวเป็นพาหะ จากการสำรวจด้วยแอปพลิเคชันอีสมาร์ทพลัส
  4. จัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรับมือการเกิดโรคในปศุสัตว์

ทั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันในการดำเนินการเตรียมรับมือ และแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทุกด้าน ลดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม และความมั่นคงของประเทศต่อไป

ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

ที่มาของข้อมูล : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์