วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ สั่งการให้ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กองปฏิบัติการพิเศษและปราบปรามการกระทำความผิดด้านปศุสัตว์ (ชุดปฏิบัติการพิเศษพญาไท) สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ และกองสารวัตรและกักกันสนธิกำลังร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำกำลังเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์เข้าตรวจสุขภาพสัตว์ทั้งหมดเบื้องต้นและตรวจสอบสวัสดิภาพสัตว์ ที่เลี้ยงอยู่ ณ ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ โดยมีคุณอุเทน ยังประภากร เจ้าของฟาร์มฯ พร้อมด้วยผู้ดูแลสัตว์ นำเจ้าหน้าที่ตรวจเยี่ยมภายในฟาร์มฯ
ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ เปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2493 แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาต้องหยุดให้บริการเนื่องจากสถานการณ์การระระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันมีสัตว์เลี้ยงอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น จระเข้ ช้าง เสือโคร่ง เสือดาว หมีควาย หมีขอ ม้าแคะ ลา แกะ แพะ ชะนี ลิง ชิมแปนซี อุรังอุตัง ฮิปโปโปเตมัส อีกัวน่า เต่า ตะพาบ งู นกต่าง ๆ โดยผลการตรวจสอบสุขภาพสัตว์ทั้งหมดเบื้องต้น พบว่า สัตว์ส่วนใหญ่มีร่างกายสมบูรณ์ และมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม
ในส่วนของช้างทั้ง 4 เชือกที่ปรากฏเป็นข่าว โดยเฉพาะช้างสีดอบุญมีที่มีแผลจากการล่ามโซ่เป็นเวลานาน เนื่องจากไม่มีควาญช้าง จึงต้องให้สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาทำการยิงยาซึมจนสามารถเข้าไปตัดโซ่และรักษาแผลได้นั้น กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติและสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการเข้าตรวจประเมินแผล พบว่าแผลที่ขาซ้ายด้านหน้าดีขึ้น แผลมีสภาพแห้งและตื้นขึ้น ไม่มีคราบเลือดและหนองบริเวณแผล ส่วนค่า Body Condition Score(BCS) ได้ 2.5/5 (ค่า BCS มาตรฐาน ต้องไม่น้อยกว่า 3/5) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทีมสัตวแพทย์จึงได้เน้นย้ำให้ผู้เลี้ยงทำความสะอาดแผลและให้ยาปฏิชีวนะเป็นประจำจนกว่าแผลจะหายเป็นปกติ ตลอดจนแนะนำให้ปรับโภชนาการอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น ส่วนช้างอีก 3 เชือกนั้นพบว่ามีค่า Body Condition Score(BCS) 2.5/5 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานเช่นกัน ทางกรมปศุสัตว์จึงได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาอาหารสัตว์มอบหญ้าสดจำนวน 1,500 กิโลกรัม และหญ้าแพงโกลาแห้งจำนวน 3,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นการช่วยเหลือช้างบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นตามโครงการปันอาหารช้างฝ่าวิกฤตโควิด-19 ของกรมปศุสัตว์ โดยมีคุณอุเทน ยังประภากร เป็นผู้รับมอบ โดยในระยะยาวทีมสัตวแพทย์แนะนำให้เจ้าของฟาร์มฯเสริมอาหารเม็ด ปรับโภชนาการอาหารให้มีความหลากหลาย ส่วนในประเด็นด้านสุขภาพช้างนั้นกรมปศุสัตว์จะจัดทีมสัตวแพทย์เข้าตรวจติดตามให้การรักษาและคำแนะนำในการยกระดับการจัดสวัสดิภาพเป็นระยะต่อไป
ส่วนการดำเนินคดีกับเจ้าของฟาร์มฯ ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มาตรา 22 โทษมาตรา 32 ปรับไม่เกิน 40,000 บาท โดยให้ไปชำระค่าปรับ ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ ภายใน 15 วันทำการ ซึ่งเจ้าของฟาร์มฯ แจ้งว่าจะเข้ามาชำระค่าปรับในวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2565 และจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและจัดสวัสดิภาพช้างให้เหมาะสม ตามที่เจ้าหน้าที่ได้แนะนำ โดยจะมีเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ เข้ามาตรวจสอบติดตามในทุกสัปดาห์จนกว่าจะปรับปรุงให้แล้วเสร็จ หากพบภายหลังว่ายังไม่ดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ฯ จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ภาพ กิตติพรรณ จินดามัง / ข่าว สลิลรัตน์ ชูโชติ / กลุ่มเผยแพร่ / สลก