"กรมปศุสัตว์เปิดการประชุมรับการตรวจประเมินระบบการกำกับดูแลการผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคของหน่วยงานภาครัฐจากหน่วยงาน the Canadian Food Inspection Agency (CFIA) ประเทศแคนาดา ให้สร้างความเชื่อมั่นระบบการผลิตเนื้อสัตว์ปีกเพื่อส่งออกของไทย"
วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2565 เวลา 09.30 น. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ให้การต้อนรับ Dr. Balroop Nanhar (Lead Auditor) CFIA ผู้แทนจากหน่วยงานตรวจสอบอาหารประเทศแคนาดา the Canadian Food Inspection Agency (CFIA) Mr. Christophe Rouleau ผู้แทนจากสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย พร้อมคณะฯ ในโอกาสเดินทางเข้าตรวจประเมินระบบการตรวจสอบการผลิตเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 1-11 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมพุทธอุดมสุข กรมปศุสัตว์
โดย สัตวแพทย์หญิง ดร.พัชรี ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ นายสัตวแพทย์อภินันท์ คงนุรัตน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานด้านการปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์วัชรพล โชติยะปุตตะ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือด้านการปศุสัตว์ระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจาก สพส. สคบ. สสช. กสก. สตส. และ กรป. ร่วมให้การต้อนรับ
ในการตรวจประเมินครั้งนี้จะมีการเข้าตรวจโรงงาน (on-site) ทั้งสิ้น 6 แห่ง ประกอบด้วยโรงเชือดเป็ด จำนวน 2 แห่ง โรงเชือดและโรงงานแปรรูปเป็ด จำนวน 1 แห่ง โรงเชือดและโรงงานแปรรูปไก่ จำนวน 2 แห่งและโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ปีก จำนวน 1 แห่ง ซึ่งเป็นการตรวจประเมินระบบการดูแลการผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ส่งจากประเทศไทยสอดคล้องตามมาตรฐาน กฎ ระเบียบประเทศแคนาดา มากกว่านั้น ในการตรวจครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อเปิดตลาดการส่งออกสินค้าเนื้อเป็ดและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยไปยังประเทศแคนาดาด้วย
ในการนี้ผู้แทนจากกรมปศุสัตว์ได้บรรยายภาพรวมของกรมปศุสัตว์ ระบบการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพสัตว์ปีก การควบคุมป้องกันและการควบคุมการเคลื่อนย้ายโรคสัตว์ปีก และระบบการตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ ระบบการผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ปีก ทั้งนี้ ในปัจจุบันโรงเชือดและโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงาน CFIA แล้วเป็นจำนวน 35 โรงงาน ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปไปประเทศแคนาดา จำนวน 7,720 ตัน มูลค่า 981.82 ล้านบาท ปี 2565 (ม.ค.- มิ.ย.) 5,944 ตัน คิดเป็นมูลค่า 856.03 ล้านบาท ซึ่งการตรวจประเมินครั้งนี้ น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกเนื้อสัตว์ปีกไทยไปประเทศแคนาดาได้มากขึ้น