นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในเดือนธันวาคม 2561 ถึงมกราคม 2562 นี้ กรมปศุสัตว์กำหนดให้มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย พร้อมกับการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ แกะ นำสัตว์มาฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันโรคและลดความสูญเสียจากการระบาด โดยติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอใกล้บ้านพร้อมกันทั่วประเทศ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียให้กับโค กระบือ แพะ แกะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้สัตว์ของเกษตรกรมีภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ และเพื่อลดปริมาณเชื้อ ลดการเกิดโรคหรือการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ เนื่องจากการระบาดของโรคแต่ละครั้ง ส่งผลต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก ทั้งจากการสูญเสียรายได้ ค่าใช้จ่ายในการรักษาสัตว์ป่วยและค่ายาสำหรับฆ่าเชื้อโรคในฟาร์ม ซึ่งการดำเนินการของกรมปศุสัตว์จะเน้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในโคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ และจัดทำประวัติการฉีดวัคซีน พร้อมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้บริการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาดนัดค้าสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ คอกกักสัตว์ รถบรรทุกสัตว์ สหกรณ์โคนมและศูนย์รับนม เป็นต้น อีกทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นโรคระบาดที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งของโค กระบือ แพะ แกะ เนื่องจากติดต่อได้เร็ว โดยโรคนี้ไม่ทำให้สัตว์ถึงตายแต่ทำให้สัตว์สุขภาพทรุดโทรม ผลผลิตลดลง ส่วนโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียเป็น
โรคระบาดรุนแรงในกระบือ ทำให้กระบือป่วยตายอย่างเฉียบพลัน ซึ่งทั้งสองโรคนี้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร หรือผู้เลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ท้ายนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะนำเชื้อโรคเข้าฟาร์ม ได้แก่ คน ยานพาหนะต่างๆ ถังนม สัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ ถุงอาหารสัตว์ เป็นต้น ประกอบกับหมั่นสังเกตอาการของสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วย หรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์การบริหารงานส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทร. 063-2256888 หรือ Application: DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที ทั้งนี้หากเกษตรกรให้ความร่วมมือในการให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีน และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการป้องกันการเกิดโรค สัตว์ของท่านก็จะปลอดภัยจากโรคดังกล่าว
**********************************
ข้อมูล/ข่าว : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ ข่าวปศุสัตว์