อธิบดีกรมปศุสัตว์แจ้งเตือนทั่วประเทศยกระดับการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แม้ไม่ติดต่อสู่คนแต่สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราป่วย-ตายสูง เชื้อทนทานในสภาพแวดล้อมกำจัดได้ยาก ไม่มีวัคซีนป้องกันและยาในการรักษา ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวม
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากการรายงานของของคณะกรรมการเกษตรไต้หวัน (Council of Agriculture: COA) ว่ามีการตรวจพบการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในผลิตภัณฑ์จากสุกรที่นำเข้ามาจากประเทศเวียดนามเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 แม้ว่ายังไม่มีการรายงานพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเวียดนาม อย่างไรก็ตามจากการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของ Mr. Phung Duc Tien รองปลัดกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของประเทศเวียดนามได้เปิดเผยว่าปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรบริเวณชายแดนระหว่างจีนและเวียดนามทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างรุนแรงในประเทศเวียดนาม ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์- ซากสัตว์ภายในภูมิภาคอาเซียน และเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรปนเปื้อนมากับคนและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค จึงได้แจ้งเตือนให้จังหวัดตามแนวชายแดนที่มีความเสี่ยงสูงประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อีกทั้งได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (war room) ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สำหรับความก้าวหน้าของการยกระดับมาตรการหรือแนวทางการปฏิบัติในการป้องกันควบคุมโรคให้เป็นวาระแห่งชาติได้รับความเห็นชอบจากนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจากรายงานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) พบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเกิดการระบาดใน 16 ประเทศ แบ่งเป็นทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ ทวีปยุโรป 10 ประเทศและทวีปเอเชีย 2 ประเทศ คือประเทศจีนและมองโกเลีย (ยังไม่นับรวมเวียดนาม) สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าวนี้ พร้อมทั้งได้ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรวิชาชีพและสมาคมต่างๆ รวมทั้งพี่น้องเกษตรกรที่ได้มีส่วนร่วมและร่วมแรงร่วมใจกันในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพทำให้ประเทศไทยไม่มีการระบาดของโรคดังกล่าวในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ใคร่ขอความร่วมมือในกรณีผู้ที่เดินทางไปศึกษาดูงานหรือไปทำงานในฟาร์มสุกรในประเทศที่เกิดการระบาดและมีความเสี่ยงสูงที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อเดินทางกลับขอให้งดเข้าฟาร์มเลี้ยงสุกรไม่น้อยกว่า 5 วัน พร้อมทั้งให้ปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัดและผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม โรงอาหาร สถานประกอบเลี้ยง ให้งดจำหน่าย จ่าย แจกเศษอาหารเหลือจากการรับประทานให้ผู้ที่นำไปเลี้ยงสุกรเพื่อป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าว
ท้ายที่สุดนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอให้เกษตรกรอย่าได้ตระหนก และขอให้มั่นใจในการดำเนินงานที่เข้มงวดของปศุสัตว์ในการป้องกันโรคไม่ให้เข้ามาสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรของประเทศไทย รวมทั้งขอย้ำให้เกษตรกรยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์มตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม และงดเว้นการนำอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุกที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาทีมาเลี้ยงสุกร นอกจากนี้ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ call center 063-225-6888 หรือที่แอปพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เร่งดำเนินการให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ข่าวปศุสัตว์