นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้มีการวางแนวทางเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยน้ำนมดิบที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทำให้สุกนั้น ถือเป็นซากสัตว์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการในการพิจารณาการอนุญาตเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบ กรมปศุสัตว์จึงเห็นควรให้จัดทำแนวทางและกำหนดหลักเกณฑ์ ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และเป็นประโยชน์ในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สินค้าปศุสัตว์ ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ของการควบคุมการเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบ 4 ประการ ได้แก่
- ประการแรก เพื่อจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ของน้ำนมดิบ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านโคนมและผลิตภัณฑ์นม ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ.2564-2570) แผนปฏิบัติการย่อยที่ 2 การพัฒนาการผลิตน้ำนมโคและอุตสาหกรรมโคนมให้ได้มาตรฐานสากล
- ประการที่สอง เพื่อยกระดับมาตรฐานน้ำนมดิบ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และมีข้อมูลเพื่อใช้เฝ้าระวังโรคระบาดและสร้างความน่าเชื่อถือให้ประเทศคู่ค้าและผู้บริโภค
- ประการที่สาม เพื่อควบคุมการนำเข้าน้ำนมดิบจากต่างประเทศ จากการเปิดเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) และการค้าเสรีอาเซียน
- และประการที่สี่ เพื่อป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดจากน้ำนมดิบภายในประเทศ
ดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบโดยระบบ e-Privilege Permit โดยเชิญเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนจากปศุสัตว์เขต 1 – 9 ผู้แทนปศุสัตว์จังหวัดที่มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และผู้แทนจากศูนย์วิจัย- การผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 85 คน โดยการประชุมแบ่งออกเป็น 2 ครั้ง คือ ในวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2563 และวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งในการประชุมประกอบด้วยเนื้อหาสาระเกี่ยวกับขั้นตอนการเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบ ด้วยระบบ e-Privilege Permit ของกองสารวัตรและกักกัน เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ในการขออนุญาตเคลื่อนย้ายซากสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ด้วย
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้มีการวางแนวทางเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบ พร้อมทั้งจัดทำขอบเขตการควบคุมการเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบ อาทิ ควบคุมการขนส่งและเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบเฉพาะกรณี การขนส่งและเคลื่อนย้ายจากศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบไปยังโรงงานผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม การขนส่งและเคลื่อนย้ายจาก “ฟาร์มโคนมที่ส่งนมไปยังโรงงานผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม” โดยตรง การเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบดังกล่าวฯ ผ่านระบบ e-Privilege Permit เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน GMP หรือ GAP เป็นต้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การควบคุมเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทำให้สุกจากต้นทาง ซึ่งหมายถึง ศูนย์รวบรวมน้ำนม ไปสู่โรงงานแปรรูปนั้น จะทำให้กรมปศุสัตว์สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ในกรณีที่สินค้าอาจมีปัญหาคุณภาพ รวมทั้งจะทำให้ทราบถึงปริมาณน้ำนมที่ผลิตในประเทศ และควบคุมน้ำนมที่อาจจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศในอนาคตเมื่อเปิดการค้าเสรีอีกด้วย ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ขอย้ำว่า การเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 นั้น จะบังคับใช้กับผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ไม่ได้ใช้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยอย่างแน่นอน
**************************************
ข้อมูล/ข่าว : คณะกรรมการประชาสัมพันธ์การควบคุมการเคลื่อนย้ายน้ำนมดิบ ข่าวปศุสัตว์