29 มิ.ย. 64 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคระบาดที่สำคัญในสุกรว่า ปัจจุบันภาครัฐได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน รวมทั้งนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา ในการป้องกันโรคระบาดที่สำคัญในสุกร อาทิเช่น โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ล่าสุดได้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน 7 ด้าน ประกอบไปด้วย
- เร่งรัดติดตามการขึ้นทะเบียนผู้รวบรวมสุกรหรือพ่อค้าคนกลาง (broker) ในแต่ละจังหวัดให้เสร็จโดยเร็ว
- ปรับปรุงมาตรการและหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายให้ง่ายต่อการปฏิบัติ และให้มีประสิทธิภาพต่อการป้องกันโรค โดยผ่านคณะอนุกรรมการวิชาการ ให้ออกมาตรการโดยเร็วที่สุด
- ชี้แจงมาตรการและหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายสุกรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- กองสารวัตรและกักกัน ให้เข้มงวดการตรวจสอบสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่จะส่งออกไปต่างประเทศ โดยให้ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่าง ณ ด่านขาออก หากพบสัตว์ผิดปกติให้ดำเนินการตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเข้มงวด
- สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกัน ASF
- สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์รวบรวมและแจ้งรายชื่อโรงฆ่าสัตว์ที่สามารถรองรับการบริหารจัดการ การดำเนินการลดความเสี่ยงต่อโรคภายในจังหวัด ส่งให้ปศุสัตว์จังหวัดดำเนินการ
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด หากพบการกระทำผิด แจ้งข้อมูลที่แอปพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายตรงผู้บริหารกรมโดยตรง
ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ทำให้ราคาสุกรเดิมที่เคยตกต่ำ ราคาหน้าฟาร์ม 60 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ขยับกลับขึ้นมาที่ราคา 75-76 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับต้นทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ได้มีขบวนการของผู้ไม่หวังดี ปล่อยข่าวการเกิดโรคระบาดในสุกร หวังผลให้ราคาตกต่ำแล้วซื้อทำกำไร ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเฉพาะรายย่อย ที่พึ่งเริ่มฟื้นตัวจากราคาสุกรที่เริ่มดีขึ้น จึงขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวเสียในทัน ไม่เช่นนั้น กรมปศุสัตว์จะมีมาตรการดำเนินการโดยเด็ดขาดต่อไป
**************************************
ข้อมูล/ข่าว : ทีมโฆษกกรมปศุสัตว์ (29 มิ.ย. 2564) ข่าวปศุสัตว์