ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการรายงานพบโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness: AHS) ซึ่งถือเป็นโรคอุบัติใหม่ครั้งแรกในประเทศไทยมีการรายงานพบการเกิดโรคไปองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563 ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อผู้เลี้ยงม้าอย่างมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เช่น ไม่สามารถจัดการแข่งขันม้าทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายม้าข้ามจังหวัดหรือออกนอกประเทศ ไม่สามารถนำม้าให้บริการนักท่องเที่ยวหรือทำสันทนาการได้ ทำให้ผู้เลี้ยงม้าขาดรายได้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบให้น้อยที่สุดและควบคุมโรคในวงจำกัด จึงได้ให้ความสำคัญใส่ใจมาตั้งแต่ต้นและมีนโยบายสั่งการเร่งด่วนให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการควบคุมโรคทันที นั้น
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์รับสนองนโยบาย ได้เร่งดำเนินการพร้อมด้วยภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยขอให้ทุกหน่วยงานร่วมกันดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัดลดการแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้กำหนดแผนปฏิบัติการการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าเพื่อขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) โดยแนวทางดำเนินการประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะเผชิญเหตุ ระยะที่ 2 ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติซ้ำของโรค และระยะที่ 3 ขอคืนสถานภาพรับรองการปลอดโรค AHS ในประเทศไทยจาก OIE โดยตามข้อกำหนดของ OIE (OIE Terrestrial Animal Health Standards Commission, 2018) ระบุเงื่อนไขในการขอคืนสถานภาพปลอดโรคจะต้องไม่พบม้าป่วยใหม่เพิ่มเติมในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี และต้องมีการหยุดการใช้วัคซีนภายในประเทศก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี จึงจะสามารถดำเนินการขอคืนสถานะปลอดโรคนี้จาก OIE ได้ โดย OIE ได้กำหนดการขอคืนสถานะปลอดโรค AHS ในรูปแบบของ free country หรือ free zone ไว้ด้วย
จากการดำเนินงานอย่างเข้มงวดและความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรค AHS แล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและขอคืนสถานภาพปลอดโรค AHS จาก OIE ได้โดยเร็ว กรมปศุสัตว์จึงเร่งขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ได้แก่ การเฝ้าระวังโรค การควบคุมเคลื่อนย้าย การควบคุมแมลงและพาหะ และการเฝ้าระวังโรคในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะหรือพื้นที่เฉพาะ (Sentinel surveillance) ซึ่งจากข้อมูลที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นจนพบม้าป่วยตัวสุดท้าย สามารถขอคืนสถานภาพปลอดโรคจาก OIE ได้ภายในปี 2566 นี้ นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บกของ OIE กรมปศุสัตว์จึงได้หารือ Dr. Susanne Muen-sterman ที่ปรึกษา OIE มาตั้งแต่ต้น โดย Dr. Susanne มีกำหนดเดินทางมาประเทศไทย ระหว่างวันที่ 21-27 พฤศจิกายน 2564 เพื่อเป็นที่ปรึกษาและตรวจประเมินการดำเนินงานควบคุมและกำจัดโรค AHS ของประเทศไทยให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บกของ OIE ก่อนที่ประเทศไทยจะยื่นขอรับรองคืนสถานภาพปลอดโรค โดยมีกำหนดการเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ด่านกักกันสัตว์ สถานที่กักสัตว์ และสถานที่ที่มีสัตว์ sentinel เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือในประเด็นต่างๆ กับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล่าสุดวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดประชุมหารือร่วมภาคีเครือข่าย Mr. Harald Link นายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี Dr. Susanne ร่วมประชุมหารือด้วย โดย Dr. Susanne ได้ให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำเอกสาร รวมทั้งการปรับแนวทางและกิจกรรมการเฝ้าระวังโรคให้ครอบคลุมและครบถ้วนยิ่งขึ้น เช่น ปรับแผน Sentinel surveillance เพิ่มการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการในสัตว์กลุ่มม้าลายในพื้นที่เสี่ยง และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้มากขึ้น
รมว.กษ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้มั่นใจประเทศไทยได้ดำเนินการสอดคล้องตามข้อกำหนดและข้อเสนอแนะของ OIE สามารถขอคืนสภาพปลอดโรค AHS ภายในปี พ.ศ. 2566 นี้ได้แน่นอน ซึ่งการเดินทางมาในครั้งนี้ของ Dr. Susanne จะเป็นประโยชน์กับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมาก หากคืนสถานภาพปลอดโรคได้จะทำให้ประเทศไทยลดผลกระทบและความสูญเสียจากโรคดังกล่าว อุตสาหกรรมม้าของประเทศกลับสู่ปกติ และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าในระดับนานาชาติ ซึ่งสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศไทยได้ต่อไปในอนาคต
ข้อมูล : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์ ข่าวปศุสัตว์