นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยอาหาร (Food safety) มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคให้บริโภคอาหารปลอดภัย ได้ให้ความสำคัญดำเนินงานและโครงการต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยอาหารมาตลอดอย่างต่อเนื่อง ได้ดำเนินโครงการ “ปศุสัตว์ OK” มาตั้งแต่ปี 2558 โดยผลักดันให้เกษตรกร ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยในอาหารแก่ผู้บริโภค
โครงการ “ปศุสัตว์ OK” เป็นการสร้างมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์และความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยครอบคลุมตลอดกระบวนผลิต ตั้งแต่ระบบการเลี้ยงสัตว์ต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) โรงฆ่าที่ถูกกฎหมายกระบวนการฆ่าสัตว์ถูกสุขลักษณะ โรงแปรรูปที่ได้มาตรฐาน และสถานที่จำหน่ายถูกสุขอนามัย เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการเขียงสะอาด และโครงการนี้เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ของประเทศไทย โดยใช้ตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK เป็นสัญลักษณ์สำหรับสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขลักษณะ มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าได้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง โดยสถานที่จัดจำหน่ายที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องผ่านหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ได้แก่ สินค้าที่นำมาขายต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP ผ่านการเชือดและชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับใบอนุญาต ถูกกฎหมาย มีสุขอนามัยที่ดี ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง ส่วนไข่ไก่ก็ต้องผลิตจากสถานที่รวบรวมไข่ที่ได้รับการรับรอง วางจำหน่ายในสถานที่จำหน่ายที่สะอาดถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้
นอกจากนี้ เพื่อเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงสถานที่จำหน่ายปศุสัตว์ OK กรมปศุสัตว์ได้ขยายผลนำ Google Map มาใช้ โดยได้เริ่มทดลองใช้นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ และได้ให้ทางภูมิภาคช่วยขับเคลื่อนโครงการ 1 สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปศุสัตว์ OK ต่อ 1 อำเภอ เพื่อเป็นการกำกับควบคุมดูแลสถานที่จำหน่าย ให้ผู้ประกอบการมีการรักษาความสะอาดสถานที่ขายสินค้า มีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดี มีสุขลักษณะในการจัดเก็บและการจำหน่ายสินค้าโดยใช้กรรมวิธีที่เหมาะสม รวมทั้งรักษาความสะอาดของอุปกรณ์และของใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำหน่ายสินค้าที่สะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค
อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันโครงการปศุสัตว์ OK ได้ให้การรับรองสินค้า 7 ชนิด ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อเป็ด เนื้อโค ไข่ไก่สด ไข่เป็ดสด และไข่นกกระทาสด และมีสถานที่จำหน่ายเข้าร่วมโครงการฯ แล้วกว่า 7,000 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในตลาดสด และสถานที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า Modern trade โดยสถานที่จำหน่ายที่ผ่านการรับรองภายใต้โครงการฯ จะได้รับใบประกาศและป้ายสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ไว้แสดง ณ จุดจำหน่าย เมื่อผู้บริโภคเห็นตราสัญลักษณ์นี้ จึงมั่นใจได้ว่า เนื้อสัตว์ และไข่ไก่ ที่ซื้อไปบริโภคนั้น มีคุณภาพ ปลอดภัย และผ่านการตรวจสอบรับรองจากกรมปศุสัตว์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ปลอดภัย มั่นใจได้ว่าสินค้าปศุสัตว์ที่ซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ปลอดสารตกค้าง ปลอดโรค ถูกสุขอนามัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิตแน่นอน ดังนั้น “เลือกซื้อสินค้าครั้งใด มองหาตราสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK”
ที่มา : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ข่าวปศุสัตว์